ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกเลขาฯ สปสช.วุ่น แพทย์ชนบทเคลื่อนไหว "ไม่ไว้วางใจ" รมว.สาธารณสุข

สังคม
6 ก.ค. 59
12:47
396
Logo Thai PBS
เลือกเลขาฯ สปสช.วุ่น แพทย์ชนบทเคลื่อนไหว "ไม่ไว้วางใจ" รมว.สาธารณสุข
มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. มีทีท่าว่าจะบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในวงการสาธารณสุข เมื่อชมรมแพทย์ชนบทและองค์กรภาคประชาสังคมด้านสุขภาพตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของกระบวนการสรรหา

สปสช.ประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหา เลขาธิการ สปสช.คนใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2559 แทน นพ.วินัย สวัสดิวร ที่ครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 15 พ.ค.2559

หลังปิดรับการสมัครเมื่อปลายเดือนเมษายน 2559 พบว่ามีผู้สมัครทั้งหมด 8 คน ต่อมาคณะกรรมการสรรหาที่บอร์ด สปสช.แต่งตั้งขึ้นและมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้เสนอชื่อผู้ผ่านการสรรหาให้บอร์ด สปสช.คัดเลือกเพียง 2 คน คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. และ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

ต่อมา บอร์ด สปสช.ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องคุณสมบัติของ นพ.วันชัย ว่ามีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความ นพ.วันชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขขาดคุณสมบัติ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ผู้สมัครจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งในองค์กรหรือหน่วยงานใดที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งผลให้ นพ.ประทีป เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อให้ บอร์ด สปสช.ลงมติว่าจะรับรองให้เป็นเลขาธิการ สปสช.หรือไม่

วันที่ 4 ก.ค.2559 บอร์ด สปสช.นัดประชุมเพื่อลงมติรับรองหรือไม่รับรอง นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติไม่รับรอง นพ.ประทีป ด้วยคะแนนเสียง 14 ต่อ 13 เสียงและงดออกเสียง 1 เสียง

หลังจากนี้ บอร์ด สปสช.ต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นใหม่ภายในวันที่ 8 ก.ค.2559 เพื่อเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด ซึ่ง นพ.ประทีป จะไม่มีสิทธิ์กลับเข้ามารับการสรรหาใหม่ได้

การไม่รับรอง นพ.ประทีป ทำให้เกิดการตั้งคำถามในแวดวงสาธารณสุขนำโดยชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสาธารณสุข ซึ่งตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบธรรมในการลงคะแนนรับรองหรือไม่รับรอง นพ.ประทีป ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ทั้งที่ นพ.ประทีปได้คะแนนสูงในการแสดงวิสัยทัศน์

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการกาเครื่องหมายลงบนบัตรลงคะแนน กลายเป็นคะแนนชี้ขาดที่ทำให้เสียงข้างมากไม่รับรอง นพ.ประทีป

เฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบทตั้งคำถามต่อการที่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้บอร์ด สปสช.รับรองบัตรลงคะแนนใบหนึ่งที่ทำเครื่องหมายในช่อง "ไม่รับรอง" แต่เจ้าของบัตรดังกล่าวกลับใช้เครื่องหมาย "ถูก" แทนที่จะเป็นเครื่องหมาย "กากบาท" ตามที่ระเบียบการลงมติกำหนด ส่งผลให้คะแนนรวมของกรรมการที่ "ไม่รับรอง" เป็นเสียงข้างมากคือ 14 คน

 

ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทมองว่า บัตรลงคะแนนที่ใช้เครื่องหมายถูกแทนเครื่องหมายกากบาทนี้ถือว่าเป็น "บัตรเสีย" เช่นเดียวกับนายนิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ที่เห็นว่าบอร์ด สปสช.ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าบัตรดังกล่าวเป็น "บัตรดี" หรือ "บัตรเสีย"

"ในฐานะหนึ่งในกรรมการสรรหา เลขาธิการ สปสช. ผมเห็นว่ากรรมการชุดนี้ ไม่ควรทำหน้าที่ต่อ เพราะว่าคนที่กรรมการส่งชื่อเข้าไป กรรมการไม่รับรอง ก็เท่ากับ บอร์ด สปสช. ไม่รับรองกรรมการสรรหาด้วยและกรรมการสรรหา เคยคุยกันเองว่า ถ้าบอร์ด สปสช.ไม่เลือกคนที่ผ่านการสรรหาไป พวกเราก็ต้องหมดหน้าที่ ให้ทำใหม่ก็ไม่ทำแล้ว" นายนิมิตร์เขียนข้อความในเฟซบุ๊ก Nimit Tienudom เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.)

"และอีกประการหนึ่ง คือ ในวันนั้น (4 ก.ค.) บอร์ดไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นคนลงคะแนนชี้ว่า บัตรที่ทำเครื่องหมายถูกเป็นบัตรดี ในฐานะอดีตกรรมการบอร์ด สปสช. ทุกครั้งบอร์ดจะกังวลและไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับข้อกฎหมาย แต่ทำไมครั้งนี้จึงกล้าทำอะไรที่ผิดระเบียบแบบนี้"

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล หนึ่งในบอร์ด สปสช.ที่เข้าประชุมด้วยในวันที่ 4 ก.ค.โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kannikar Kijtiwatchakul เล่าเหตุการณ์ในที่ประชุมว่า "ระหว่างการนับคะแนนปรากฏว่า มีบัตรใบหนึ่งทำเครื่องหมายถูกในช่องไม่รับรอง ทั้งที่ในใบลงคะแนนระบุชัดเจนให้ทำเครื่องหมายกากบาท ทำให้บอร์ดมีประเด็นข้อถกเถียงนี้กว่า 40 นาที เมื่อ นพ.ปิยะสกล (รมว.สาธารณสุข) ถามว่าใครเป็นเจ้าของบัตรใบนี้ ต้องการให้ยืนยันเจตนารมณ์ว่า ไม่รับรองใช่หรือไม่ แต่ไม่มีกรรมการคนใดยอมรับ ทำให้ประธาน จึงมีการถามมติว่าที่ประชุมจะยืนยันเจตนารมณ์ของบัตรใบนี้ว่าไม่รับรองหรือไม่ ปรากฏว่ามี 18 เสียงยืนยัน ทำให้ที่ประชุมรับรองบัตรเสียดังกล่าว ขณะที่กรรมการเสียงข้างน้อยแย้งว่า เรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ ขอให้บันทึกรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับมตินี้ หากเกิดมีปัญหาทางกฎหมายในอนาคต"

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ สปสช.ภาคประชาชน มองว่าการมีมติไม่รับรองนายแพทย์ประทีป เป็นการพยายามเปลี่ยนตัวเลขาธิการ สปสช.ให้เป็นตัวแทนจากฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่ผลการให้คะแนนในการโชว์วิสัยทัศน์นายแพทย์ประทีปได้คะแนนมากถึง 91 จาก 100 คะแนน

"เรากังวลว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้่ว่าไม่อยากได้ผู้แทนที่เป็นคนที่ทำงานในระบบหลักประกันสุขภาพหรือเปล่า หรือว่าอยากได้คนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นคำถามที่ถามไปยังรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ค. บอร์ด สปสช.ภาคประชาชนจึงได้ขอให้บันทึกความเห็นของเสียงข้างน้อยไว้"
รับรองบัตรลงคะแนนใบหนึ่ง ที่แพทย์ชนบทมองว่าเป็นบัตรเสีย เพราะไม่ได้ใช้สัญลักษณ์กากบาท ซึ่งผลิกผลคะแนนเลือกเลขาธิการ สปสช.ในทันที

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ยืนยันว่า การลงคะแนนของบอร์ด สปสช.มีความโปร่งใส เพราะได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังได้ และการให้บอร์ดลงมติรับรองบัตรที่ใช้สัญลักษณ์เครื่องหมายถูกเกิดขึ้นหลังจากปรึกษาผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายแล้วว่าสามารถทำได้ ที่สำคัญไม่มีข้อกฎหมายใดที่กำหนดให้ผู้ลงคะแนนต้องกาเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น แต่เมื่อเกิดข้อถกเถียงขึ้นจึงทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาที่ให้ลงคะแนนรับรองบัตรใบนั้น ด้วยคะแนนเสียง 18 ต่อ 10

"กรณีนี้ เราถามที่ปรึกษากฎหมายว่าถ้าเจ้าของบัตรมีความตั้งใจที่จะลงคะแนน ที่ประชุมน่าจะลงมติได้ว่าบัตรนี้ดีหรือเสีย ผมจึงต้องทำตามผลโหวตของที่ประชุม ซึ่ง 18 เสียงลงมติว่าให้ถือว่าเป็นบัตรดี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอส" ทางโทรศัพท์เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) พร้อมกับย้ำว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในกระบวนการที่ผ่านมา ว่าไม่มีความพยายามเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใด และพร้อมให้ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยต่อไปบอร์ดสปสช.ต้องคัดเลือกกรรมการสรรหาใหม่ภายในวันที่ 8 ก.ค.2559

ข่าวที่เกี่ยวข้อง