วันนี้ (10 ก.ค. 2559) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบการเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา และหากพบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
ด้าน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า หลังลงพื้นที่พบ 3 ประเด็นหลัก ที่มีความพยายามบิดเบือน คือ การศึกษา บัตรทอง และเบี้ยผู้สูงอายุขณะที่กรรมการร่าง
นายปกรณ์กล่าวต่ออีกว่า คณะอนุกรรมการที่ กรธ.ตั้งขึ้น จะสรุปเนื้อหาในเอกสารที่มีผู้แจกจ่ายระหว่างการเปิดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญที่ จ.เชียงใหม่ ว่ามีเนื้อหาบิดเบือนจริงหรือไม่ ก่อนส่งต่อให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการ
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ยังไม่ยืนยันว่าเอกสารดังกล่าว เป็นฉบับเดียวกับที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มประชาธิปไตยใหม่จัดทำขึ้นหรือไม่ แต่พบมีเจตนาบิดเบือนโดยอ้างว่าเป็นเอกสารของ กรธ. ซึ่งไม่เป็นความจริง
ส่วน นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า ไม่กังวลเรื่องศาลปกครองสูงสุดได้นัดไต่สวนคดีที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ ปี 2559 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเกินขอบเขตที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติกำหนด เพราะเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ในมาตรา 61 วรรค 2 ผูกพันทุกองค์กร และประกาศฉบับนี้ ก็เขียนขึ้นโดยล้อมาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ