ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จีนไม่รับคำตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้ กลับลำพร้อมเจรจาทวิภาคีกับฟิลิปปินส์

ต่างประเทศ
12 ก.ค. 59
21:44
797
Logo Thai PBS
จีนไม่รับคำตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้ กลับลำพร้อมเจรจาทวิภาคีกับฟิลิปปินส์
จีนประกาศย้ำไม่ยอมรับคำตัดสินข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ฟิลิปปินส์แสดงความยินดี

วันนี้ (12 ก.ค. 2559) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวฟิลิปปินส์ร่วมกันโห่ร้องแสดงความดีใจ หลังจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะคดีข้อพิพาทกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ จากกรณีรัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดอธิปไตยของจีนไปตั้งแต่ปี 2556

นายเปอร์เฟคโต ยาซัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีต่อคำตัดสินในครั้งนี้ และยืนยันว่าฟิลิปปินส์จะเคารพคำตัดสินดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้น มีสติในการแก้ไขปัญหา

ด้าน นายลู กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไม่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ จีนไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว อย่างไรก็ดี จีนยังคงคาดหวังที่จะธำรงสันติภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาค รวมถึงสานต่อมิตรภาพกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ โดยยินดีร่วมการเจรจาทวิภาคีกับฟิลิปปินส์เพื่อผลักดันการพัฒนาร่วมกัน ตามที่รัฐบาลชุดใหม่ของฟิลิปปินส์ได้แสดงเจตจำนงเอาไว้ก่อนหน้านี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานต่ออีกว่า ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตัดสินว่าการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้โดยยึดเส้นประ 9 เส้นของจีนตามการกล่าวอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่มีกฎหมายใดรองรับ รวมถึงยังเป็นการขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และการกระทำของจีนถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์เหนือพื้นที่ 200 ไมล์ทะเล ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ อีกทั้ง การที่จีนส่งเรือเข้าไปขัดขวางเรือประมงฟิลิปปินส์ในพื้นที่พิพาทยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ขณะที่ การสร้างเกาะเทียมด้วยการถมทะเลของจีนยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการทำลายแนวปะการัง ซึ่งเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นไม่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรได้ ดังนั้นพื้นที่ 200 ไมล์ทะเลรอบเกาะเทียมดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามหลักอนุสัญญาสหประชาชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง