หลังไทยพีบีเอสนำเสนอข่าว ผลการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่า ผักปลา น้ำประปาหมู่บ้าน และน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดน่าน มีการปนเปื้อนสารเคมีเกษตรเกินค่ามาตรฐาน
ล่าสุด วันนี้ (14 ก.ค.) ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ประปาสวนภูมิภาคจังหวัดน่าน พบว่าระบบโรงกรองน้ำในระบบผลิตน้ำประปา ไม่ได้ออกแบบรองรับการกรองความปลอดภัยทางสารเคมีเกษตร ยืนยันว่าได้มีการส่งตัวอย่างน้ำดิบ และน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตประปา ตรวจวิเคราะห์สารเคมีปีละ 1 ครั้ง และยังไม่พบว่าสารเคมีเกินค่ามาตรฐานกำหนด
นายสมยศ คำหว่าง หัวหน้างานผลิต การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ระบบผลิตน้ำประปาแทบทุกโรง โรงกรองน้ำไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการคัดกรองสารเคมี แต่เน้นเรื่องการกรองความขุ่น ร่วมถึงเชื่อโรคที่มากับน้ำ โดยที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างน้ำ 15 ตัวอย่างจากแหล่งน้ำดิบที่มาจากแม่น้ำน่าน น้ำประปา ที่ผ่านกระบวนการผลิตรวมถึงน้ำจากบ้านเรือนประชาชน มาตรวจสอบ คุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพเคมีและจุลชีววิทยา ส่งตรวจสอบไปยังที่ห้องแล็ปที่จังหวัดเชียงรายทุกเดือน
ทั้งนี้ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางกายภาพจะเน้นตรวจสอบเรื่อง ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง ส่วนการตรวจสอบวิเคราะห์สารเคมีโลหะหนัก จะมีการตรวจสอบสารเคมีประเภท คลอไรด์ เหล็ก แมงกานิส ทองแดง สังกะสี ซัลเฟต ซึ่งพบว่าบางชนิดตรวจไม่พบทั้งในแหล่งน้ำดิบและน้ำประปา และที่ตรวจพบบางชนิดยังไม่เกินค่ามาตรฐาน ขณะที่การตรวจสอบด้านจุลชีววิทยา จะเป็นการตรวจหาเชื้อโรคที่มาจากมูลสัตว์ แต่ผลการตรวจทุกเดือนน้ำประปาในจังหวัดน่านไม่พบเชื้อโรคที่มาจากมูลสัตว์
นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างน้ำดิบและน้ำประปารวมถึงน้ำ จากบ้านเรือนประชาชนในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำหลาก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์น้ำด้านสารเคมีโลหะหนักชนิดอื่นๆ เช่นอย่าง สารปรอด ตะกั่ว สารหนู ซิลิเนียม โครเมียม แคดเมียม และแบเรียม ส่งไปที่กองควบคุมคุณภาพน้ำ การประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานส่วนกลาง กทม. ตรวจสอบคุณภาพน้ำปีละ 1 ครั้งโดยผลตรวจสอบคุณภาพน้ำยังไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีโลหะหนักเกินมาตรฐาน
หัวหน้างานผลิต การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดน่าน ยังกล่าวอีกว่า กระบวนการผลิตน้ำประปา จะใช้สารสร้างตะกอนในกระบวนการทำน้ำขุ่นให้ใสก่อน และนำน้ำทีใสแล้ว เข้าสู่ถังกรองทรายและกรวดอีกครั้ง ก่อนนำแก๊สคลอรีนมาผสมและเข้าสู่ระบบกระจายน้ำไปยังบ้านเรือนต่างๆ โดยโรงกรองน้ำในเมืองน่าน จะกระจายน้ำประปาให้บริการในพื้นที่อ.เมืองและอ.ภูเพียง
สำหรับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีการตรวจพบการปนเปื้อนสารเคมีเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส อทราซีน ไกลไฟเซต และพารอควอต ที่เกินค่ามาตรฐานนั้น หัวหน้าฝ่ายผลิต การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดน่าน กล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบ ไปยังกองควบคุมคุณภาพน้ำว่าสารเคมีเกษตรทั้ง 4 ชนิดนี้อยู่ในเงื่อนไขของการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากสารเคมีหรือไม่ เนื่องจากโรงกรองน้ำประปาส่วนภูมิภาคไม่ได้มีการตรวจสอบสารเคมีดังกล่าว
"ยินดีให้นักวิชาการเข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาที่ผ่านกระบวรการผลิตมีผลตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้ว เพื่อเป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง หากพบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีเกษตรดังกล่าวจริงในน้ำประปา จะได้นำเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เพื่อหาวิธีการแก้ไขเพื่อหาวิธีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าจะต้องมีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เนื่องจากการผลิตน้ำประปาเป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่ปลายทางเท่านั้น แต่การใช้สารเคมีเกษตรอาจจะต้องไปแก้ที่ต้นทางที่เป็นผู้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนด้วย" หัวหน้างานผลิตการประปาส่วนภูมิภาค กล่าว