วันนี้ (15 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้อำนาจ กสทช.ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามตามมาตรา 37 ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดย กสทช. ใช้อำนาจได้โดยไม่มีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง แต่ให้สื่อมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายได้ นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงคำสั่งที่ให้อำนาจ กสทช.ควบคุมรวมถึงปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้ ว่าไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่สื่อควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลรอบด้านแก่สังคม คำสั่งที่ออกมาทำให้สื่อรู้สึกว่าไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงเรียกร้องให้ คสช.ทบทวนเรื่องนี้
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช. แสดงความเห็นทางทวิตเตอร์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการปิดสื่อที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งคำสั่งของ คสช.เป็นการปกป้องการใช้อำนาจของ กสท. และ กสทช. เสียงข้างมาก และกระทบต่อภาพรวมเสรีภาพสื่อทั้งหมด พร้อมทั้งระบุว่าปัจจุบัน กสทช. มีอำนาจกำกับสื่อได้อยู่แล้ว แต่ต้องใช้อย่างรอบคอบและมีการถ่วงดุล แต่เมื่อมีคำสั่งตามมาตรา 44 มากปกป้อง ก็จะทำให้ กสทช. ใช้อำนาจได้แรงขึ้นอีก
ท่านที่เข้าใจว่า ประกาศ คสช. ครั้งนี้ทำให้ กสทช. ปิดสื่อได้ทันทีเลย ยังไม่ใช่ เพราะยังมีศาลปกครองเป็นด่านสุดท้าย (แต่ฟ้องอาญา-แพ่งไม่ได้)
— Supinya Klangnarong (@supinya) July 14, 2016
ท่านที่เข้าใจว่า ประกาศ คสช. ครั้งนี้จะทำให้ กสทช.จัดระเบียบสื่อเด็ดขาดจากละครตบตี โฆษณาหลอกลวง รายการไร้สาระ ก็ไม่ใช่ เขาเน้นเฉพาะการเมือง
— Supinya Klangnarong (@supinya) July 14, 2016
ด้าน พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาผังรายการและเนื้อหารายการ มองว่าคำสั่งนี้เป็นการให้อำนาจ กสทช.ดูแลการนำเสนอข่าวสารได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 37 และไม่ขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับ 97 และฉบับ 103 ซึ่งเป็นการกำกับดูแลสื่อทีวีดาวเทียมที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ กสทช.เมื่อครั้ง คสช.ยึดอำนาจ ที่ผ่านมามีสถานีโทรทัศน์หลายช่องที่นำเสนอแล้วมีปัญหา วิจารณ์โดยไม่มีหลักทางวิชาชีพ ซึ่ง กสทช. ก็เรียกมาเตือนก่อน ไม่ได้สั่งปิดทันที ดังนั้นจึงยืนยันว่าสื่อสารมวลชนยังทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีของพีซทีวีที่ถูกสั่งปิดไป
มีรายงานว่าวันนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อจะจัดประชุมหารือเกี่ยวกับคำสั่งฉบับที่ 41/2559 ของ คสช. เพื่อแสดงท่าทีต่อคำสั่งดังกล่าว
คำสั่งล่าสุดนี้มีการกำหนดประเภทข้อมูลข่าวสารให้ชัดเจนเพิ่มเติมจากคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของสื่อ 2 คำสั่งก่อนหน้า คือ ห้ามการออกอากาศรายการ ที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือข่าวสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน