วันนี้ (17 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ The River Assembly จัดกิจกรรมล่องเรือเสวนา "นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา" เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) โดยมีประชาชน และองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคมกว่า 60 องค์กรเข้าร่วม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยล่องเรือจากท่าเรือสาทร ไปยังบริเวณชุมชนมัสยิดบางอ้อ เขตบางพลัด พื้นที่หนึ่งในโครงการ เพื่อเสวนาพูดคุยกับนักวิชาการ ตัวแทนองค์กร ประชาชนทั่วไป และตัวแทนชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง พร้อมชูป้ายสัญลักษณ์เพื่อทวงถามว่า "ทางเลียบเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย?"
นายยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทักท้วง เพราะไม่รู้ว่าโครงการนี้จะทำไปเพื่ออะไร ไม่มีการศึกษาในเชิงนโยบายว่าการสร้างทางเลียบแม่น้ำจะพัฒนาเจ้าพระยาได้อย่างไร และการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ระบุว่าชุมชนริมแม่น้ำทั้ง 33 ชุมชนเห็นด้วยกับโครงการฯ เป็นการบิดเบือน เพราะความจริงมันไม่ใช่การออกแบบที่ให้รถดับเพลิงวิ่งได้ยืนยันว่าต้องเป็นถนนแน่นอน
นายขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเข้าถึงแม่น้ำของคนไทยคือการล่องเรือเพื่อชื่นชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมฝั่ง หากจะสร้างทางเลียบเพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกให้ประชาชนไปยืนริมฝั่งชมแม่น้ำเหมือนเกาหลี มันอาจจะไม่ใช่ ยิ่งไปกว่านั้นอาจบดบังทัศนียภาพที่ดีเสียหมด แล้วจะบอกว่าคนริมน้ำยึดพื้นที่ก็ไม่ได้ เพราะเขาอยู่มาแต่ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังต้องฟังเสียงของเขาให้มากเพราะเป็นผู้เดือดร้อนมากที่สุด
ขณะที่นายอดุลย์ โยธาสมุทร ตัวแทนชุมชนมัสยิดบางอ้อ กล่าวว่า ชาวบ้านบางอ้อเปิดพื้นที่ให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำได้ และพร้อมพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมเก่าแก่ แต่สำหรับโครงการนี้ไม่มีชอบธรรมกับชาวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันสันเขื่อนกั้นน้ำท่วมที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำก็มาจากโครงการของรัฐบาลที่ไม่ได้ถามความเห็นเช่นกัน
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โครงการใดที่อาจผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้ ต้องศึกษาผลกระทบก่อน แม้ตอนนี้จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แทน ก็ยังมีมาตรา 4 ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นกับโครงการนี้ได้ การที่ สจล.ลงพื้นที่จึงต้องถามว่าลงไปรับฟังความเห็นจริงๆ หรือแค่ไปประชาสัมพันธ์ ถ้าหากไม่ใช่ โครงการนี้จะถือเป็นโมฆะ
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและนักวิชาการ กล่าว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแท้จริง ควรปลูกจิตสำนึกรักษ์แม่น้ำ รักษ์ธรรมชาติ และเรียนรู้จักวิถีของตนเอง มากกว่าจะทำตามอย่างต่างประเทศ โครงการนี้จะทำ เพราะคิดจะหาสตางค์กันมากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถ้าประชาชนคัดค้านจริงจัง ประยุทธ์จะยุติ ถ้าเอาพระมาเป็นพวกได้ เราจะชนะ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกระทรวงมหาดไทย และอนุมัติงบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท เพื่อสร้างเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยานในบริเวณนำร่องจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ทำการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายละเอียดโครงการนี้ โดยว่าจ้าง สจล. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบศึกษา ภายในระยะเวลา 7 เดือน ด้วยวงเงิน 120 ล้านบาท ซึ่งวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยแบบร่างโครงการฯ เป็นชนวนที่ทำให้สมัชชาแม่น้ำ (RA) ชวนประชาชนลงเรือลำเดียวกันหวังยุติโครงการด้วยพลังมวลชน