เอกสารงบประมาณย้อนหลัง 5 ปี ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังมีปัญหาการระบายน้ำล่าช้า ส่งผลให้บางจุดเกิดน้ำท่วมสูงไม่ต่างจากปี 2554 และจากการตรวจสอบงบประมาณตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2559 พบว่ามีการใช้งบประมาณสูงถึง 27,000 ล้านบาท
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า "พูดไปแล้วก็ 27,000 ล้านบาทแล้วถ้าดูไป 5ปี พูดอย่างนี้มันน่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ทุกวันนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง นี่ยังไมได้พูดถึงโครงการใหญ่ๆ แล้วที่น่าตกใจพอน้ำท่วม 1 วันรถติดไปอีก ทั้งวัน ยังต้องผุดไปอีกจะใช้ 4,000บาท ล้าน จำนวน 21 โครงการอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ประชาชน หรือสื่อมวลชนก็อยากรู้เหมือนกันมันจะเกี่ยวข้องอะไรกับ 5,000 ล้าน แล้ว 5,000 ล้านทำไมถึงไม่พอ ทำไมถึงมาคิดได้ตอนน้ำรอระบาย"
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินระบุว่า หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สำนักการระบายน้ำ ใช้งบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท สูงสุด 8,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี งานบริหารทั่วไปใช้งบประมาณไป 328 ล้านบาท พัฒนาระบบน้ำ 6,000 ล้านบาท แผนการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 15,000 ล้านบาท
การจัดการคุณภาพน้ำ 5,000 ล้านบาท การตรวจสอบทั้ง 50 เขตในปีนี้ พบมีการใช้งบประมาณมากกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าทุกปี
สตง.ตรวจสอบงบประมาณแผนการระบายน้ำและแก้ไขปญหาน้ำท่วม กทม.ทั้ง 50เขต ย้อนหลังไป 5ปี เขตบึงกุ่มใช้งบประมาณมากที่สุด 482 ล้านบาท รองลงมาเขตสายไหม 168 ล้านบาท และเขตจอมทอง 128 ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆก็ทำให้สตง.ตั้งข้อสังเกตว่ากับประสิทธิภาพการระบายน้ำ ที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำรอระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ กทม.จะถูกตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณจากสตง.แต่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กลับเชื่อว่าทั้ง 50 เขต ใช้งบประมาณสมเหตุสมผล พร้อมย้ำว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาน้ำรอระบายได้ กทม.ต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 100,000 ล้านบาท
อมร เชวงกิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เมื่อมีฝนตกลงมาแล้วโทษว่าระบายไม่ทัน ลงประมาณจัดสรรไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าอยากจะให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพในลักษณะหายไปในพริบตา กรุงเทพมหานครจะต้องมีเงินลงทุนแสนล้านบาท ในเงินลงทุนแสนล้านบาท ไปซ้ำรอยเมืองปารีสที่ว่าทำท่อลงใต้ดินให้หมดเลย เราคงไม่สามารถของบประมาณนี้ได้จากทางรัฐบาลได้ทั้งหมด
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้แจงอีกว่า กทม.มีงบประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท แต่เป็นงบลงทุนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำทั้งระบบได้เหมือนกับประเทศเนอเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น พร้อมยืนยันว่าทุกครั้งที่มีการท้วงติงการใช้งบประมาณจากสตง. กทม.ก็ดำเนินการตรวจสอบทันทีถ้ามีหลักฐานชัดเจน