วันนี้ (21 ก.ค.2559) เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเวลา 10.00 น. เพื่อให้ยุติการพิจารณา EIA โครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา รวมทั้งคัดค้านการจัดทำรายงาน เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ โดยเนื้อหาที่ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีดังนี้
เรื่อง ขอให้หยุดการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เรียน ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบอำนาจให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ได้ว่าจ้างบริษัทเอ็นริช คอนซันแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีมติให้นำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้วนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็น และดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปทางเครือข่ายประชาชนปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล มีความเห็นว่ารายงานการศึกษาดังกล่าวไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงขอเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยุติการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน ด้วยเหตุผลดังนี้ต่อไปนั้น
1. แท้จริงแล้วการศึกษาโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลาคือยุทธศาสตร์ที่ต้องการเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสองฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ที่มีองค์ประกอบของโครงการมากกว่าหนึ่งโครงการ ดังนั้นจึงไม่ควรศึกษาแบบแยกส่วนรายโครงการ ทั้งยังต้องคำนึงถึงผลกระทบโดยรวมของประชาชนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอื่นๆในภาพรวมด้วย
2. โครงการนี้ได้มีเสียงคัดค้านของประชาชนหลายพื้นที่ตลอดเส้นทางโครงการตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผลของความไม่ชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ของโครงการที่อยู่ระหว่างการขนส่งสินค้า หรือการขนส่งมวลชน และทั้งสองแนวทางก็ไม่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้หรือความคุ้มทุนในการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
3. ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟ ทั้งยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร ที่จะทำให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนในเรื่องทรัพย์สิน อาสิน ตลอดถึงความมั่นใจในการอยู่อาศัย หรือผลกระทบอื่นๆที่จะตามมาในอนาคต
4. โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งต้นทางและปลายทาง ด้วยสถานีต้นทางอยูที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่ง 4.2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งจะต้องถอนสภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติฯอย่างน้อย 4,734 1ไร่ และอาจจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และที่สำคัญคือบริเวณดังกล่าวที่เรียกว่าอ่าวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนจังหวัดสตูล และสถานีปลายทางบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นพื้นที่อันทรงคุณค่าทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กำลังดำเนินการเพื่อเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา และของประเทศ
การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ถือเป็นกระบวนการศึกษาที่ไม่เคารพสิทธิความเห็นของประชาชนในพื้นที่ และไม่เชื่อมโยงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา ตามข้อสังเกตที่ได้นำเสนอไปแล้วเบื้องต้นถือเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะนำเรียนเพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีภูมิรู้ต่อเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ได้โปรดใช้วิจารณญาณในการพินิจพิจารณาถึงเหตุผลต่างๆดังกล่าวแล้วอย่างรอบด้านและรอบคอบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาวต่อไปจึงเสนอให้หยุดการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบของโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา หรือเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมระหว่างทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการสร้างความกระจ่างตามข้อสังเกตที่ได้นำเรียนไว้แล้ว
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายรุ่งเรือง ระหมันยะ)
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา สตูล