ประติมากรรมรูปนางเงือกนั่งอยู่บนโขดหิน บริเวณแหลมสมิหลา เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา จนมีคำกล่าวว่าใครมาเยือนสงขลาแล้วไม่มาเยือนสมิหลาก็เหมือนมาไม่ถึงสงขลา รวมถึงถ้าไม่ได้ถ่ายรูปนางเงือกทอง ก็มาไม่ถึงแหลมสมิหลาเช่นกัน
นางเงือกทองถูกสร้างขึ้นตามนิยายปรัมปราของไทยโบราณ ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เล่าไว้ว่า วันดีคืนดีนางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ แต่วันหนึ่งบังเอิญมีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจ รีบหนีลงทะเลไปโดยลืมหวีทองคำไว้ ฝ่ายชาวประมงก็เก็บหวีทองคำไว้และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย
เทศบาลนครสงขลาสร้างประติมากรรมนางเงือกทองขึ้นในปี พ.ศ. 2509 หล่อขึ้นด้วยบรอนซ์รมดำ ตามดำริของนายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้ อาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ปั้นหล่อ ด้วยราคา 60,000 โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2509 โดย ม.จ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน