นายธันวา ลิ่มสถาพร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 (สพป.สงขลา เขต 1) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อขาวไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงสถานการณ์การครูขอย้ายออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในช่วงปี 5-6 แรกๆ หลังจากเกิดเหตุรุนแรงเมื่อปี 2547 มีครูขอย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก เฉพาะมาช่วยราชการที่ สพป.สงขลา เขต 1 มีประมาณ 400 คน
แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จำนวนครูที่ขอย้ายออกจากพื้นที่ลดน้อยลงมาก นายธันวากล่าว
ด้านนายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ วิเคราะห์ว่า เหตุครูขอย้ายออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ผลดี โดยเป็นความร่วมมือของฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ครู บุคลากร ผ่านกลไกหลักคือ ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ด้วยการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับหน่วยกำลังที่รับผิดชอบพื้นที่และโรงเรียน เช่น ให้มารับครูเดินทางไป-กลับตามเวลา มีการรักษาความปลอดภัยเส้นทาง และมีการประชุมปรับแผนอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ครูที่สอนอยู่ก็เป็นคนในพื้นที่เกือบทั้งหมด การย้ายจึงเป็นไปตามระบบปกติ ไม่ใช่การย้ายจากสถานการณ์ความรุนแรง เช่น ขอย้ายไปอยู่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้บ้านตนเอง ยกเว้นกรณีครูประสบเหตุความไม่สงบ มีปัญหาด้านความปลอดภัย หรือมีการเตือนว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง ก็จะขอให้ย้ายมาช่วยราชการเป็นรายบุคคล ซึ่งขณะนี้แทบไม่มีกรณีดังกล่าว
ชงเพิ่มเงินเยียวยาครูเสียชีวิตเป็น 4 ล้านบาท
ปัจจุบันเงินเยียวยาให้ครอบครัวครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ที่ 500,000 บาท ถ้าครูที่เสียชีวิตเป็นสมาชิกสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ก็จะได้รับเพิ่มอีก 500,000 บาท บุตรของครูที่เสียชีวิตจะได้รับทุนเรียนจนจบปริญญาตรี และผู้ที่เรียนจบสายการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นครูครอบครัวละ 1 คน
นายนพพรเปิดเผยว่า สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้กำลังเสนอเพิ่มเงินเยียวยาให้ครอบครัวครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นรายละ 4,000,000 บาท
“ครูที่นี่ไม่เหมือนครูดอย ครูดอยลำบากเรื่องทุรกันดาร ขึ้นเขา ลงห้วย แต่ที่นี่ทุรกันดารไม่มาก แต่เป็นความเสี่ยงภัยในชีวิตและความยากในการทำงานมากกว่าที่อื่น” นายนพพร กล่าว
ในขณะที่บางความเห็น เสนอให้เพิ่มสิทธิพิเศษสำหรับครูในพื้นที่รอบนอกเพื่อให้ทำงานในพื้นที่นานขึ้น เพราะแม้จะมีค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ มาเป็นแรงจูงใจ แต่ครูก็ยังมีความกลัวและกังวลใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน