วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีการแพร่กระจายของประชากรเสือโคร่ง และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนเสือควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปรามการล่าเสือโคร่งโดยขบวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลง
นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า สถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะนี้มีจำนวนประชากรเสือโคร่งประมาณ 200-250 ตัว ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อินโดจีน (Indochinese Tiger) นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีสัญญาณบ่งบอกว่าเสือกระจายตัวออกไปหากินในพื้นที่ที่ไกลกว่าเดิม เช่น พื้นที่ป่าตะวันตกอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีประชากรเสือมากที่สุดประมาณ 80-100 ตัว พบว่าเสือออกไปหากินในพื้นที่ป่าแม่วงก์ ซึ่งเป็นรอยต่อจากห้วยขาแข้ง ชี้ให้เห็นว่ามีภัยคุกคามน้อยลง ทำให้เสือรู้สึกปลอดภัยและขยายพื้นที่หากินออกไป
นายอดิศรกล่าวว่า ภัยคุกคามของเสือโคร่ง คือ การลดลงของพื้นที่ป่าและการถูกล่าจากมนุษย์ โดยมีสาเหตุมาจากความเชื่อผิดๆ ที่ว่าเสือเป็นอาหารเสริมพลัง หรือการนำอวัยวะบางส่วนมาเป็นทำเครื่องรางของขลังเพื่อเสริมบารมี อย่างกรณีเสือในวัดป่าหลวงตาบัว อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักดีในชื่อ “วัดเสือ” ซึ่งก่อนหน้านี้ดูคล้ายว่าจะเป็นวัดที่อนุรักษ์เสือ แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังกลับกลายเป็นการค้าเสือและสนับสนุนการค้าสัตว์ป่าในตลาดมืด
เจ้าหน้าที่ตรวจค้นภายในวัดป่าหลวงตาบัวเมื่อวันที่ 1-2 มิ.ย.2559 พบเสือโคร่งซากเสือโคร่ง ซากลูกเสือที่ถูกดองไว้ในขวดแก้ว รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด ทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานฯ จึงได้ขนย้ายเสือโคร่ง 137 ตัวออกจากวัดและนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าใน จ.ราชบุรี
รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่กำลังฝึกฝนและฟื้นฟูสัญชาตญาณนักล่าให้กับเสือเลี้ยงเหล่านี้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังได้ร่วมกับ World Wide Fund for Nature (WWF) ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ จัดทำ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง” ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง โครงการนี้ยังสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ 2553-2565 ที่ไทยจะต้องทำให้ประชากรเสือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2565 ตามที่เคยให้คำมั่นในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2553
รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งมาได้ระยะหนึ่ง โดย WWF จะทำการวิจัยและเข้าไปสำรวจร่องรอยของเสือโคร่งในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ประเมินจำนวนประชากรเสือโคร่ง รวมถึงการใช้พื้นที่ของเสือโคร่ง และนอกจาก WWF แล้วยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมทำงานอนุรักษ์เสือโคร่ง
หากจะเร่งการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 50 จากเดิมที่มีอยู่ ภายในปี 2565 ก็อาจจะต้องเพาะพันธุ์เสือโคร่งในกรงเลี้ยง ก่อนนำกลับสู่ธรรมชาติ เพราะหากปล่อยให้มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติอาจต้องใช้เวลานาน เนื่องจากเสือเพศเมียจะคลอดลูกปีละครั้ง ๆ ละ 2-4 ตัวและโอกาสที่ลูกเสือจะรอดชีวิตตามธรรมชาติมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น
รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ยังระบุอีกว่า หลังจากนี้จะต้องศึกษาและวิจัยเพื่อเตรียมพื้นที่ที่จะนำเสือโคร่งกลับคืนสู่ป่า ซึ่งจะต้องมีเหยื่ออย่างเพียงพอ เช่น ป่าเขาใหญ่และป่าภูเขียว เพราะเป็นผืนป่าสมบูรณ์ เหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของเสือ นอกจากนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูประชากรเสือและทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอเสือทั้งในธรรมชาติและในกรงเลี้ยง ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้เมื่อหากมีการลักลอบนำเสือออกจากพื้นที่ โดยจะต้องทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอเสือให้แล้วเสร็จในอีก 1-2 ปี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า มีประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยประมาณ 200-250 ตัว โดยพื้นที่ที่มีเสือโคร่งมากที่สุดคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประมาณ 70 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ประมาณ 15-20 ตัว อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน ประมาณ 5 ตัว ส่วนที่เหลือกระจัดกระจายอยู่ตามป่าต่างๆ
ขณะที่ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันจำนวนของเสือโคร่งทั่วโลกอย่างแน่ชัด แต่มีการประเมินว่าจำนวนเสือโคร่งลดลงถึงร้อยละ 95 โดยลดลงจาก 100,000 ตัว เหลือเพียง 3,200 ตัวเท่านั้น ซึ่งหากประชากรเสือโคร่งยังลดลงเรื่อยๆ การฟื้นฟูจำนวนเสือโคร่งอาจไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
WWF ระบุว่าการอนุรักษ์เสือโคร่งในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ประชากรเสือโคร่งในป่าเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย อินเดีย เนปาลและภูฏาน แต่สถานการณ์เสือโคร่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต และหากไม่มีการปราบปรามการล่าสัตว์ป่าและแก้ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างจริงจังแล้ว เสือโคร่งก็อาจจะสูญพันธุ์