ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนรู้จักกับ "ฟับบิ้ง" (Phubbing) พฤติกรรมยุคสังคมก้มหน้า อาจกระทบสุขภาพจิต

สังคม
2 ส.ค. 59
11:06
2,400
Logo Thai PBS
ชวนรู้จักกับ "ฟับบิ้ง" (Phubbing) พฤติกรรมยุคสังคมก้มหน้า อาจกระทบสุขภาพจิต
จะเห็นภาพได้ชัดขึ้น ถ้าใครเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไปกับกลุ่มเพื่อน แต่อึดอัด ไม่รู้จะคุยกับใคร เพราะต่างคน ต่างก้มหน้าเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอมือถือ หรือ สนใจคนในแชท มากกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า

ความห่างเหินต่อคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่เกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์การสื่อสาร เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสังคมไทย พฤติกรรมนี้ เรียกว่า "ฟับบิ้ง" (Phubbing) ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าโอกาสนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงาน ได้อยู่กันพร้อมหน้า ร่วมโต๊ะกินข้าว สนทนา หรืออยู่ในรถคันเดียวกัน แต่พฤติกรรม "ฟับบิ้ง" ของคนใดคนหนึ่งในวง ที่ตั้งหน้าตั้งตาจิ้มสมาร์ทโฟน โดยไม่คุย ไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่ว่าทำโดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็จะทำให้คนอื่นๆ รู้สึกว่าการพูดคุยกันเริ่มน่าเบื่อ เพราะถูกเฉยชา

ผลการศึกษาในทางจิตวิทยา พบว่า คนที่ถูกทำ phubbing ใส่ บางคนรู้สึกไม่พอใจ อึดอัด และรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้เกียรติกัน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิตของไทย กับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ ได้ร่วมกันศึกษาถึงสาเหตุพฤติกรรมฟับบิ้ง พบว่า พฤติกรรมฟับบิ้ง มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ภาวะติดอินเทอร์เน็ต กลัวการตกกระแสข้อมูลข่าวสาร และผู้ใช้อุปกรณ์การสื่อสารควบคุมตัวเองไม่ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะ "ติดสมาร์ทโฟน"

ขณะที่คนที่ถูกทำฟับบิ้งใส่ จึงหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเล่นบ้าง หรือที่เรียกว่า "ฟับ" กลับมากขึ้น วนเวียนเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่หายไป จากพฤติกรรมก้มหน้าใช้สมาร์ทโฟนจนเกินพอดีเท่านั้น ผู้ใช้อุปกรณ์การสื่อสารมากๆ ต้องลองเช็คพฤติกรรมต่อไปนี้ดูว่า เราสุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะเสพติดสมาร์ทโฟนหรือไม่

จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบ่อยๆ ง่วนอยู่กับการเช็คข้อความตลอดเวลา หงุดหงิดเมื่อแบตเตอรี่หมด หรือ กระวนกระวายเมื่อการใช้งานขาดช่วง ให้ความสำคัญกับตัวตนและเพื่อนในโลกออนไลน์ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติอาการเหล่านี้หนักเข้า จิตแพทย์กรมสุขภาพจิต ระบุว่านี่ อาจเข้าข่ายอาการเสพติดสมาร์ทโฟน เป็นปัญหาสุขภาพจิตได้เหมือนกัน

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ถ้าเริ่มหงุดหงิด มีความกังวลมาก เครียดเศร้า อารมณ์เข้าขั้นสุขภาพจิตแล้ว บางคนเสพติดการกดไลค์ ขาดความมั่นใจในตัวเอง นี่เป็นอย่างหนึ่งที่สะท้อนได้เหมือนกันว่าเสพติด เอาตัวเองไปผูกกับโซเซียลออนไลน์

จิตแพทย์ระบุว่า การบรรเทาและป้องกันการเสพติด สมาร์ทโฟน ไม่จำเป็นต้องตัดขาดจากการออนไลน์ หรือเลิกใช้งานสมาร์ทโฟนไปเลยทีเดียว เพียงแต่ผู้ใช้เลือกใช้สมาร์ทโฟนเท่าที่จำเป็น เริ่มง่ายๆ จากการลองตั้งกฎกับตัวเอง เช่น จะไม่แตะโทรศัพท์ภายในเวลา 30 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะห่าง หรือ กำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ หากรู้สึกเหงาจริงๆ คนรอบข้างจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้พุดคุย และทำกิจกรรมได้ดีกว่าการสื่อสารผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม

สำหรับอาการวิตกกังวล พะว้าพะวังว่าขาดหรือหยุดใช้สมาร์ทโฟนไม่ได้พบได้ทั่วโลก อย่างในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่น และวัยทำงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้ พบว่าใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนถึงวันละเกือบ 8 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของวันทีเดียว แต่ถ้ารู้ตัวก่อนว่าเริ่มติดแล้ว รีบปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่ผลเสียจะเกิดขึ้นกับสุขภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง