แม้ราคาส่วนต่างของน้ำมันเถื่อนจะห่างจากน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศแค่ประมาณลิตรละ 1-2 บาท แต่ 2 ฝั่งถนนสายยะรัง-ปัตตานี ยังคงมีน้ำมันหนีภาษีวางจำหน่ายโดยทั่วไป จนกลายเป็นภาพชินตาสำหรับผู้คนที่ผ่านมาไปมา
เช่นเดียวกับสินค้าหนีภาษีอีกหลายประเภท ที่ยังถูกขนผ่านด่านต่างๆบริเวณชายแดน ทั้งทางรถยนต์และรถไฟเพื่อส่งต่อให้ลูกค้า ซึ่งตรงกับข้อมูลของชุดปฎิบัติการปราบปรามภัยแทรก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่พบว่า น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี ยาเสพติด การค้ามนุษย์ บ่อนการพนัน และขบวนการตัดไม้ทำลายป่า เป็นภัยแทรกซ้อนที่มีเงินหมุนเวียนเกือบ 1,000 ล้านบาท และยังกลายเป็นท่อน้ำเลี้ยง กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบบางกลุ่ม ทำให้ความรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าเหตุความไม่สงบมากกว่าร้อยละ 80 เกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้ ขณะที่ร้อยละ 20 เกิดจากอุดมการณ์ของกลุ่มผู้คิดต่าง
ขณะที่ ต.คลองมานิง อำเภอเมืองปัตตานี เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุยิงรายวัน แต่จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งส่วนตัว โดยโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ปัจจุบันเกิดการยิงเพื่อแก้แค้นกันเอง ถึง 41 คู่ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากขัดผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือ นักการเมืองท้องถิ่น หรือความขัดแย้งในเครือญาติ
กองทัพภาคที่ 4 จึงได้จัดทำบัญชีความขัดแย้งเพื่อหาทางออกร่วมกัน และสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้แล้ว 36 คู่ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการขั้นเด็ดขาดกับข้าราชการที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับผลประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย เพื่อลดการเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ภาคใต้
ตรงกับความเห็นของน่ายตายูดิน อุสมาน นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ระบุว่า กลุ่มปัญหาภัยแทรกซ้อนและกลุ่มก่อความไม่สงบ ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการสร้างสถานการณ์ แต่ปัญหาภัยแทรกซ้อน รัฐสามารถจัดการได้ง่ายกว่า เพราะทราบเป้าหมายชัดเจน จึงควรเร่งดำเนินการ เพื่อลดความวุ่นวายในพื้นที่
ปัญหาภัยแทรกซ้อนที่มีมากขึ้นทำให้กองทัพภาคที่ 4 จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการปราบปรามภัยแทรกซ้อน เพื่อปราบปรามภัยเงียบที่แฝงตัวในความรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี หรือ ปัญหายาเสพติด ซึ่งพบว่า ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับยึดยาบ้าได้กว่า 4,000,000 เม็ด และยังพบการทะลักของยาเสพติดประเภทอื่นๆอีกจำนวนมาก