วันนี้ (3 ส.ค. 2559) นายวีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านผู้สูงอายุ เปิดเผยงานวิจัยพฤติกรรมการออนไลน์ของผู้สูงอายุ 480 คน ในพื้นที่ กทม. อ้างอิงความสุขตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยพบว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุให้เกิดประโยชน์ ส่วนสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา แต่หมายถึงความถี่และระยะเวลาที่ใช้งาน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสุขในวัยชรา โดยกลุ่มตัวอย่างที่ออนไลน์แล้วมีความสุขมากที่สุด คือกลุ่มที่ใช้งาน 2-4 ชม.ต่อวัน รองลงมาคือ 4-7 ชม.ต่อวัน และใช้งาน 4-6 วันต่อสัปดาห์
ส่วนการเช็คข้อมูลข่าวสารในแต่ละครั้ง ควรทิ้งช่วงห่างมากกว่า 2 ชม. และใช้เวลาเฉลี่ยครั้งละแค่ 15 นาที ทั้งนี้ หากยิ่งทิ้งช่วงการติดตามความเคลื่อนไหวในสื่อมากเท่าใด จะส่งผลต่อความสุขเพิ่มขึ้น
นายวีรณัฐ กล่าวต่ออีกว่า ผลวิจัยยังพบว่าบ้านคือสถานที่ที่ผู้สูงอายุใช้งานสื่อสังคมออนไลน์แล้วมีความสุขที่สุด โดยความบันเทิงยังคงเป็นวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความสุข ส่วนข้อห่วงใย คงหนีไม่พ้นการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ
“คำแนะนำการใช้สื่อให้เกิดสุขในผู้สูงอายุ ควรเลือกออนไลน์ในวันธรรมดาวันละไม่เกิน 3 ชม. และควรพักหน้าจอในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัวหรือทำงานอดิเรก และต้องทิ้งช่วงการหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาตรวจสอบความเคลื่อนไหวไม่น้อยกว่า 2 ชม.” นักวิชาการด้านผู้สูงอายุ ระบุ
ด้าน นางพรพรรณ ประคองวงษ์ วัย 70 ปี กล่าวภายหลังเริ่มใช้งานออนไลน์จากการแนะนำของบุตรชาย นพ.ธราธิป ประคองวงษ์ ว่า สนใจแอปพลิเคชันตกแต่งรูปภาพ ส่วนข้อมูลข่าวสารที่อยากรู้ ก็สามารถค้นหาได้ง่ายด้วยกูเกิล ขณะที่แอปพลิเคชันไลน์ยังช่วยให้มีกลุ่มเพื่อนที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มครอบครัวที่สร้างห้องแชทไว้เฉพาะ ทำให้สื่อสารกับบุตรหลานได้ง่ายขึ้น
“ต้องใช้เวลาสักระยะทำความเข้าใจการใช้งาน แต่ก็ถือว่าคุ้ม เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา และส่งผลให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นด้วย” นางพรพรรณ ระบุ