ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดข้อมูลหีบบัตรประชามติ กกต.สมชัย โยนแตก จัดซื้อ 5 หมื่นชิ้น ราคากว่า 12 ล้าน

การเมือง
4 ส.ค. 59
10:20
3,327
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูลหีบบัตรประชามติ กกต.สมชัย โยนแตก จัดซื้อ 5 หมื่นชิ้น ราคากว่า 12 ล้าน
กกต.ยืนยันถึงความโปร่งใส ในการจัดทำหีบบัตรออกเสียงประชามติรุ่นใหม่ หลังแถลงเปิดตัวยืนยันความแข็งแรง แต่กลับโยนแล้วแตก ส่วนเมื่อวานนี้ที่มีการแถลงถึงสายรัดพลาสติกที่แน่นหนา แต่สื่อมวลชนดึงแล้วหลุดอย่างง่ายดาย

หลังจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงเปิดตัวหีบบัตรลงคะแนนรุ่นใหม่ไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2559 แต่ต้องพบกับความ "หน้าแตก" เมื่อหีบรุ่นใหม่ที่ กกต.ยืนยันว่าแข็งแรง คนแรงกระแทกหนักๆ และใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี กลับแตกออกเป็นชิ้นๆ ในการทดสอบด้วยการโยนลงพื้นเพียง 4 ครั้ง

คลิป "หีบแตก" และท่าสะดุ้งน้อยๆ ของนายสมชัยกลายเป็น "ไวรัล" ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว แต่นอกเหนือจากความฮาของคลิป หลายคนตั้งคำถามถึงงบประมาณและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของ กกต.

ดูเหมือนนายสมชัยจะรู้ทันความสงสัยนี้ เมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) จึงได้แถลงรายละเอียดเรื่องหีบบัตรรุ่นใหม่นี้อีกรอบโดยละเอียด พร้อมกับออกตัวว่า เหตุที่หีบแตกนั้นเป็นเพราะ "โยนรุนแรง" แถมยังบอกอีกว่าในสถานการณ์จริง คงไม่มีใครปฏิบัติต่อหีบบัตรเลือกตั้งรุนแรงเช่นนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมต้อง "ขนส่งหีบบัตรอย่างระมัดระวัง"

ในวันเปิดตัวหีบบัตรเลือกตั้งซึ่งเป็นกล่องพลาสติกสี่เหลี่ยมสีขาวขุ่นนั้น นายสมชัยระบุว่า กล่องนี้ราคากล่องละ 244 บาท รับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมและทนความร้อนได้ถึง 50 องศาเซลเซียส คาดว่าจะใช้งานได้ถึง 10 ปี

หลังจากโยนหีบรุ่นใหม่ลงพื้นและหีบแตกต่อหน้าสื่อมวลชน ในการแถลงข่าวครั้งที่ 2 เพื่อชี้แจงกรณีหีบแตก นายสมชัยลดความมั่นใจลงเล็กน้อยโดยบอกว่า "กล่องนี้ใช้ได้ 5 ปี ก็คุ้มค่าแล้ว" พร้อมกับให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของหีบบัตรเลือกตั้งที่วิวัฒนาการมาจาก หีบเหล็ก สู่ยุคหีบกระดาษ จนมาถึงหีบพลาสติกนี้ว่า

"หีบบัตรพลาสติก ซึ่ง กกต.จัดทำขึ้นมานี้ ทำขึ้นเพื่อทดแทนหีบบัตรเดิมที่เป็นหีบกระดาษซึ่งใช้มาตั้งแต่ กกต.ชุดที่สองที่มีมติให้ใช้หีบกระดาษแทนหีบเหล็กที่ใช้มาตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งสมัยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ หีบเหล็กมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 800 บาทขึ้นไป ซึ่งพบว่ามีปัญหาในเรื่องการขนส่งเพราะมีน้ำหนักเยอะและเป็นภาระในการจัดเก็บ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นหีบกระดาษก็มีข้อดีตรงที่ว่ามีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย การจัดเก็บก็พับและวางเรียงซ้อนกันได้ ต้นทุนหีบกระดาษอยู่ที่ 140-180 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพว่ามีการเคลือบพีวีซีให้คงทนหรือไม่

"หีบกระดาษมีอายุการใช้งานได้ 1-2 ครั้ง หากฉีกขาดหรือพังก็ใช้การต่อไม่ได้ กกต.จึงพิจารณาว่าหากเปลี่ยนมาใช้หีบพลาสติกก็จะแก้ปัญหาเรื่องหีบบัตรเลือกตั้งได้" นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อหีบพลาสติกนี้ว่า

"เราได้ให้มีการสำรวจราคาและสอบถามไปยังสถาบันพลาสติก ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งสถาบันพลาสติกแนะนำว่าจะต้องออกแบบอย่างไร รูปทรงแบบไหนถึงจะมีความคงทนและมีอายุการใช้งาน อีกทั้งราคาที่สถาบันพลาสติกประเมินมาก็อยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ กกต.ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง

"หีบพลาสติกนี้ทำจากเมล็ดพลาสติกเกรด A การจัดซื้อจัดจ้างดำเนินงานโดย สำนักงาน กกต. นั่นหมายถึงว่ากรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ไม่เกี่ยวข้อง สำนักงาน กกต.ใช้วิธีการประกวดราคา มีผู้เสนอราคาเข้ามา 2 ราย รายที่ได้รับการคัดเลือกเป็นรายที่เสนอราคาถูกกว่า คือ 243.96 บาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 6 บาท ดำเนินการผลิตจำนวน 50,000 ใบ และแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว"

งบประมาณในการจัดซื้อหีบบัตรรุ่นใหม่นี้อยู่ที่ 12.2 ล้านบาท ผลิตจำนวน 50,000 ใบ ซึ่งหมายความว่า จากหน่วยเลือกลงประชามติที่มีทั้งหมด 95,000 หน่วย จะมีเพียงครึ่งหนึ่งที่ได้ใช้กล่องพลาสติกนี้ ขณะที่หน่วยลงคะแนนที่เหลือจะต้องยังคงใช้หีบกระดาษเคลือบพีวีซีแบบเดิม

ส่วนข้อกังวลที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะอาจทำให้เกิดการโกงในการออกเสียงประชามติได้ง่ายนั้น จริงๆ แล้วหีบพลาสติกรุ่นใหม่นี้มีฝาปิดและมีสายรัดให้แน่นหนาถึง 2 เส้น พร้อมมีเลขกล่องและป้ายให้เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อกำกับ

เพื่อทดสอบความแน่นเหนียวของสายรัดฝากล่อง นายสมชัยได้ให้ผู้สื่อข่าวมาทดลองดึงสายรัดดังกล่าว ปรากฏว่าผู้สื่อข่าวสามารถดึงสายรัดหลุดออกอย่างง่ายดาย แต่นายสมชัยก็ให้ทดลองอีกครั้ง โดยการดึงสายรัดให้แน่นขึ้น ซึ่งครั้งนี้ผู้สื่อข่าวดึงไม่หลุด

สำหรับเรื่องหีบแตกระหว่างการทดสอบเมื่อวันที่ 2 ส.ค.นั้น นายสมชัยไม่คิดว่าเป็นเรื่องของความเปราะบางของกล่องแต่เป็นเพราะเขาโยนแรงเกินไป

"ต้องขออภัยที่โยนรุนแรง ปกติหีบบัตรก็คงไม่ได้ถูกโยนอย่างรุนแรงเช่นนั้น แต่จะได้รับการขนส่งอย่างระมัดระวัง ถ้าดูแลอย่างดีก็น่าจะใช้งานได้นาน โดยส่วนตัวคิดว่าใช้งานไปประมาณ 5 ปี ก็คุ้มแล้ว" กกต.สมชัยระบุ 

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง