วันนี้ (10 ส.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรับรายงานผลการนับคะแนนออกเสียงทุกหน่วยทั้งประเทศครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วย นายบุญส่ง น้อยโสภณ นายประวิช รัตนเพียร และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ร่วมแถลงผลอย่างเป็นทางการในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงโดยได้ส่งรายงานไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว โดยจากมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวน 50,071,589 คน มาใช้สิทธิ์ 29,740,677คน หรือร้อยละ 59.40
ในคำถามประเด็นร่างรัฐธรรมนูญมีผู้เห็นชอบ 16,820,402 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 61.35 ส่วนไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.65
ขณะที่ประเด็นคำถามพ่วงของมีผู้เห็นชอบ 15,132,050 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 58.07 โดยมีผู้ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน หรือร้อยละ 41.93
นายศุภชัย กล่าวว่า การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาไม่มีสำนวนเรื่องคัดค้านร้องเรียนภายในเวลา 24 ชม.ตามกฎหมายประชามติกำหนดและการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุใดใด
นายสมชัย ระบุว่า พอใจกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 59.40 ที่มีตัวเลขมากกว่าการทำประชามติในปี 2550 ที่มีผู้ใช้สิทธิ์ร้อยละ 57
ขณะที่นายประวิช ระบุว่า ประชาชนตระหนักร่วมกันในการทำประชามติโดยหลังจากนี้สิ่งแรกที่จะทำคือการถอดบทเรียนเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งที่ จะมีในปีหน้า (2560)
ทั้งนี้ กกต.กล่าวขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์
ขณะที่ตัวเลขที่บัตรเสียร้อยละ 3.15 กกต.ระบุว่า อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากการทำประชามติครั้งนี้มี 2 ประเด็นคำถามในบัตรเดียวที่มีโอกาสเกิดบัตรเสียจำนวนมาก โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้มีสิทธิ์ออกมาออกเสียงมาก และจำนวนบัตรเสียมากที่สุด โดย จ.ปัตตานี อยู่ที่ร้อยละ 7.43 ,จ.นราธิวาส ร้อยละ 7.11 และ จ.ยะลาร้อยละ 6.54 ซึ่งจากผลบัตรเสียครั้งนี้ กกต.จะนำไปศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมหาแนวทางแก้ไข ส่วนจังหวัดที่มีบัตรเสียน้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 1.53 คือกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ นายสมชัยระบุว่า พรุ่งนี้ (11 ส.ค.2559) จะเดินทางไป จ.พิษณุโลก ด้วยตนเองเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีการนับบัตรเพราะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ แต่เห็นว่าจะไม่มีการนับใหม่เนื่องจากหน่วยดังกล่าวไม่มีการร้องคัดค้านตามที่กฎหมายกำหนด และตามกฎหมายไม่มีบทลงกรรมการประจำหน่วยคนดังกล่าวเนื่องจากเป็นชาวบ้าน และจะกำชับเจ้าหน้าที่ กกต.
ขณะที่กรณีการฉีกบัตรเกิดขึ้นใน 34 จังหวัด แต่ไม่เกิน 60 คดี กกต.ย้ำว่า หากตรวจสอบแล้วว่าผู้กระทำผิดไม่มีเจตนาเนื่องจากรู้ไม่ถึงการ กกต.ไม่ประสงค์ดำเนินคดี แต่ทั้งนี้ก็ให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดย กกต.จะไม่เข้าไปแทรกแซง
ส่วนที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้สอบ กกต.ฐานละเลยต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้ประชามติไม่บริสุทธิและเที่ยงธรรมนั้น นายสมชัย. กกต.ยืนยันว่า สามารถชี้แจงได้ทุกข้อกล่าวหาและเห็นว่าไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ การทำประชามติครั้งนี้เป็นโมฆะ พร้อมยืนยันว่าการดีเบตจัดมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา
ด้านนายศุภชัย ระบุว่า หาก กรธ.ประสานเรื่องความขอความเห็นกรณีการออกกฎหมายประกอบ พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ กกต. นั้น พร้อมยินดีให้ความร่วมมือ
ส่วนการสรุปภาพรวมผลคะแนนออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการ
5 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงมากที่สุด ได้แก่
1.จังหวัดลำพูน ร้อยละ 76.47
2.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยละ 74.36
3.จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 73.17
4.จังหวัดตาก ร้อยละ 70.00
5.จังหวัดเชียงราย ร้อยละ 67.64
2.) 5 จังหวัดที่เห็นชอบประเด็นที่ 1 สูงที่สุด ได้แก่
1.จังหวัดชุมพร ร้อยละ 90.04
2.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 88.05
3.จังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 88.03
4.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 87.29
5.จังหวัดระนอง ร้อยละ 87.10
3.) 5 จังหวัดที่เห็นชอบประเด็นที่ 2 สูงที่สุด ได้แก่
1.จังหวัดชุมพร ร้อยละ 87.51
2.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 85.93
3.จังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 85.59
4.จังหวัดสุราษณ์ฎร์ธานี ร้อยละ 84.22
5.จังหวัดระนอง ร้อยละ 84.19
4.) 5 จังหวัดที่มีบัตรดีมากที่สุด ได้แก่
1.กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 98.47
2.จังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 98.00
3.จังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 97.88
4.จังหวัดพัทลุง ร้อยละ 97.85
5.จังหวัดชุมพร ร้อยละ 97.81