ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

96 องค์กร ยื่น 5 ข้อเรียกร้องหลังประชามติ จี้ คสช.เร่งเลือกตั้ง-ฟังเสียงข้างน้อย

การเมือง
11 ส.ค. 59
13:03
232
Logo Thai PBS
96 องค์กร ยื่น 5 ข้อเรียกร้องหลังประชามติ จี้ คสช.เร่งเลือกตั้ง-ฟังเสียงข้างน้อย
ประชาสังคม-เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง 96 องค์กร ในนาม กลุ่ม "ใส่ใจประชามติ" ออกแถลงการณ์ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ไม่อาจเป็นฉันทานุมัติให้ คสช.เดินหน้า โดยไม่ฟังประชาชน จี้ให้จัดเลือกตั้งโดยเร็ว ยกเลิกมาตรา 44 ยุติดำเนินคดีนักโทษประชามติ

วันนี้ (11 ส.ค.2559) เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ต่อผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่คะแนนทั้งประเทศ ปรากฏว่าเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เครือข่าย 96 องค์กร ระบุว่า ผลประชามติที่ออกมาดังกล่าว ไม่สามารถเป็นฉันทานุมัติหรือใบอนุญาตให้ คสช.ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ฟังเสียงประชาชนได้ โดยกล่าวถึงเหตุผลว่า การออกเสียงประชามติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านกลไกเจ้าหน้าที่รัฐที่เสนอแต่ด้านดีของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเห็นต่างถูกปิดกั้น คุกคามจับกุม พร้อมชี้ให้เห็นว่าการลงประชามติเห็นชอบมีเหตุผลหลากหลาย ประชาชนที่โหวตเห็นชอบอาจด้วยวิตกกังวลอนาคตการเมืองไทยหากร่างรัฐธรรมนูญเพราะ คสช.และ กรธ.ชี้แจงแต่ขั้นตอนเฉพาะหน้า

เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ ระบุอีกว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกว่าร้อยละ 38 เป็นจำนวนคนที่มาก เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คสช.ไม่สามารถอาศัยผลประชามติ ปฏิเสธการตอบข้อวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มที่เห็นต่าง รวมถึงไม่สามารถอาศัยผลประชามติ ห้ามฝ่ายที่เห็นต่างเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ได้เรียกร้อง คสช.ยุติปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการจับกุมคุมขัง ดำเนินคดีกลุ่มรณรงค์แสดงความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ ยุติการใช้อำนาจกฎหมายพิเศษและการใช้ศาลทหารกับประชาชน เปิดพื้นที่ประชาชนแสดงความเห็นนโยบายรัฐที่กระทบชุมชน ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แสดงความชัดเจนระยะเวลาและขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และยกเลิกการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 รวมทั้งประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้

แถลงการณ์ฉบับเต็ม มีดังนี้

แถลงการณ์เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559
________________________________________

ผลการออกเสียงประชามติเบื้องต้นมีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 61.40 และคำถามพ่วงร้อยละ 58.11 แต่ก็มีผู้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญถึงร้อยละ 38.60 และไม่เห็นชอบคำถามพ่วงร้อยละ 41.89 อีกทั้งยังมีผู้มีสิทธิที่ไม่ประสงค์ออกเสียงอีกถึงร้อยละ 45.39 ซึ่งแม้ผลดังกล่าวจะส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านตามความประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทว่านอกจากหลักการประชาธิปไตยซึ่งต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ผลประชามติดังกล่าวไม่อาจนับเป็นฉันทานุมัติหรือ “ใบอนุญาต” ให้ คสช. ดำเนินการตามอำเภอใจโดยไม่ฟังเสียงฝ่ายใดได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การออกเสียงประชามติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ทั่วถึง ประชาชนจำนวนมากไม่มีโอกาสรับรู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ดำเนินการผ่านกลไกและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลักเลือกประชาสัมพันธ์เฉพาะด้านดี อีกทั้งด้านดีบางข้อในเอกสารสรุปยังประชาสัมพันธ์เกินไปกว่าที่เขียนไว้จริงในร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างกลับถูกปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขัง และดำเนินคดี เป็นเหตุให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่รอบด้านเพียงพอในการตัดสินใจออกเสียง

2. เหตุผลของการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลาย การที่ คสช. และ กรธ. แจ้งขั้นตอนข้างหน้าแต่เฉพาะกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร จึงอาจตัดสินใจเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน และการที่ คสช. และ กรธ. ปิดกั้นฝ่ายเห็นต่างที่พยายามชี้ให้เห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญก็ยิ่งส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการไปให้พ้นจากสภาวการณ์ปัจจุบันหรือการบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหารหรือ คสช. นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงภาพรวมของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 คสช. จึงไม่สามารถอาศัยผลนี้เป็นข้ออ้างในการตัดสินใจดำเนินการใดโดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนที่เหลือเหล่านี้ได้

3. การที่มีผู้ออกเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 38.60 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีประชาชนที่เห็นต่างต่ออนาคตสังคมไทยผ่านร่างรัฐธรรมนูญอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่ง คสช. และ กรธ. ไม่สามารถเพิกเฉยหรือละเลยเสียงเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ที่ฝ่ายเห็นต่างหยิบยกขึ้นมายังไม่ได้รับการชี้แจงจาก คสช. กรธ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหนักแน่นชัดเจนพอ คสช. จึงไม่สามารถอาศัยผลการออกเสียงประชามติเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธที่จะตอบคำถามและข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ รวมถึงสั่งห้ามการเคลื่อนไหวของฝ่ายเห็นต่างแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบแล้วก็ตาม

เพราะเหตุนี้ เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ที่ติดตามการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่องจึงมีข้อเรียกร้องไปยัง คสช. ดังนี้

1. คืนชีวิตการเมืองปกติให้กับสังคมไทยด้วยการยุติการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเมืองหยุดการใช้อำนาจพิเศษกฎหมายพิเศษและศาลทหารกับประชาชน

2. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกฝ่ายทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนประชาชนและชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบหรือจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์และโครงการของรัฐต่างๆได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาร่วมกันบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

3. ยุติการจับกุมคุมขังและดำเนินคดีประชาชนที่รณรงค์ประชามติและแสดงความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังก่อนหน้านี้โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขการแสดงออกดังกล่าวเป็นสิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ผิดกฎหมาย

4. ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ประกาศกำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

5. ยกเลิกการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 กลับมาใช้กลไกตามกฎหมายปกติ และให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช.ที่ละเมิดสิทธิประชาชนโดยเร็ว

เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้น โดยมีการนำเสนอข้อกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สู่สาธารณะไว้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 และแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการออกเสียงประชามติ แต่เครือข่ายฯ จะเฝ้าติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องเป็นองค์ประกอบหลักของรัฐธรรมนูญ


ด้วยความเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน
เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง