ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตร.แกะ "ลายเซ็น" ประกอบระเบิด หาตัวผู้ก่อเหตุวินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้

อาชญากรรม
16 ส.ค. 59
20:39
960
Logo Thai PBS
ตร.แกะ "ลายเซ็น" ประกอบระเบิด หาตัวผู้ก่อเหตุวินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้
เป็นที่รู้กันในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดว่า วิธีการประกอบระเบิดหรือ "ลายเซ็น" ของมือระเบิดนั้นเลียนแบบกันยาก ตั้งแต่วิธีการพันสายไฟ ไปจนถึงการใช้ดินระเบิดที่แต่ละคนเชี่ยวชาญต่างกัน เหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ก็ต้องแกะรอยจากการประกอบระเบิดเช่นกัน

แต่การแกะรอยลายเซ็นของมือระเบิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการประกอบระเบิดและการวางระเบิดมีพัฒนาการในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างเช่น เหตุก่อวินาศกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ระหว่างวันที่ 11-12 ส.ค.2559 ซึ่งในบางเหตุการณ์มีการใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุงฮีโร่ ซึ่งสามารถใช้งานระบบตั้งเวลา โดยไม่ต้องใช้ซิมการ์ด ซึ่งมีพาวเวอร์แบงค์ในการหน่วงเวลาเพื่อจุดชนวน ทำให้การแกะรอยผู้สั่งการจากซิมการ์ดไม่สามารถทำได้ แต่สามารถตรวจสอบได้เพียงหมายเลขประจำเครื่องหรือซีเรียลนัมเบอร์ ที่พบว่าจดทะเบียนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้หลายครั้ง ทำให้การตรวจสอบต้นตอของโทรศัพท์มือถือทำได้ลำบาก เจ้าหน้าที่จึงพบเพียงความเชื่อมโยงว่าเป็นฝีมือของกลุ่มเดียวกันจากภาชนะที่นำมาบรรจุระเบิด คือ กระป๋องใส่ขนมมันฝรั่งทอด ซึ่งพบในที่เกิดเหตุที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และหน้าสถานีตำรวจน้ำและสถานีตำรวจภูธรเมืองสุราษฎร์ธานี

"ผู้ก่อเหตุบรรจุระเบิดไว้ในกระป๋องขนมมันฝรั่งทอดและจุดระเบิดด้วยวงจรโทรศัพท์ยี่ห้อซัมซุงฮีโร่" พล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยผลการสอบสวนเบื้องต้น

เจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์มือถือที่นำมาก่อเหตุซึ่งจดทะเบียนในประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบเทียบกับหลักฐานที่ยึดได้ในคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งก่อนและหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ซึ่งพบว่าผู้ก่อเหตุพัฒนาการต่อวงจรระเบิดที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบสามรูปแบบ คือ

1.การควบคุมการจุดชนวนด้วยระบบควบคุมระยะไกล หรือ วิทยุสื่อสาร และเพิ่มระบบวงจรถอดรหัส หรือ DTMF เพื่อหลีกเลี่ยงอุปกรณ์การรบกวนสัญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมักใช้กับการก่อเหตุระเบิดในรถยนต์ เพื่อป้องกันความผิดพลาด
2.การจุดชนวนสองระบบในระเบิดหนึ่งลูก ซึ่งพบในถังแก๊สหุงต้มในรถยนต์ประกอบระเบิด ที่นำมาจอดทิ้งไว้ในปั้มน้ำมันที่ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้
3.ระเบิดแบบ Suicide Bomb ที่ประกอบในเสื้อ เพื่อนำมาใส่ให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งจะชุดชนวนเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบว่าชิ้นส่วนประกอบระเบิดบางอย่างถูกนำมาจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

นอกจากวิธีจุดชนวนระเบิดจะถูกพัฒนามากขึ้นแล้วรูปแบบการวางระเบิดก็ถูกปรับเปลี่ยนเช่นกัน จากเดิมที่มักใช้วิธีการซ่อนพลาง เช่น การซุกซ่อนในต้นไม้ ท่อลอดใต้ถนน แต่เปลี่ยนมาใช้เป็นการซุกซ่อนในภาชนะขนาดเล็กที่พบโดยทั่วไป หรือในสถานที่ที่ไม่ผิดสังเกต เช่น หลักกิโลเมตร ใต้เก้าอี้ม้ามั่ง หรือในถังขยะ

พ.ต.ท.ประภาส รอดพินิจ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ควบคุมและต่อต้านวัตถุระเบิด ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดหรือหน่วยอีโอดี ต้องใช้ความเด็ดเดี่ยว ว่องไวในการตัดสินใจ เข้า-ออกอย่างรวดเร็ว และต้องไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชน

รูปแบบของระเบิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเข้าเก็บกู้ ตั้งแต่การเคลื่อนตัวเป็นขบวนใหญ่ เพื่อป้องกันการถูกลอบทำร้ายระหว่างทาง หรือการทิ้งช่วงเวลาในการเข้าเก็บกู้ หลังพบว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ของศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียชีวิตระหว่างการปฎิบัติหน้าที่แล้ว 17 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง