ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปรากฏการณ์ Train to Busan ถอดรหัสหนังแดนโสม ยอดขายตั๋วทะลุ 10 ล้านใบ

Logo Thai PBS
ปรากฏการณ์ Train to Busan ถอดรหัสหนังแดนโสม ยอดขายตั๋วทะลุ 10 ล้านใบ
แม้เกาหลีใต้จะมีประชากรเพียง 50 ล้านคน แต่กลับมียอดจำหน่ายตั๋วหนังทะลุหลัก 10 ล้านใบต่อเนื่อง ทำสถิติผู้ชมในโรงต่อจำนวนประชากรสูงสุดในโลก สะท้อนความนิยมและการพัฒนาวงการหนังแดนโสม ล่าสุด หนังซอมบี้เรื่องแรกของเกาหลีใต้ ทำยอดขายตั๋วทะลุ10 ล้านใบ ได้สำเร็จ

การติดตามชะตากรรมของผู้คนที่ใช้รถไฟเป็นหนทางเอาชีวิตรอดจากการตามล่าของฝูงซอมบี้ ขณะเดียวกันก็ตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด คือความระทึกขวัญของ Train to Busan หนังเขย่าขวัญเรื่องล่าสุด ที่ทำสถิติเป็นหนังเกาหลีใต้เรื่องที่ 14 ที่ทำยอดขายตั๋วทะลุหลัก 10 ล้านใบได้สำเร็จ ความโด่งดังยังส่งให้ Seoul Station ภาคกำเนิดซอมบี้ฉบับแอนิเมชั่น เตรียมลงโรงฉายแบบต่อเนื่องในสุดสัปดาห์นี้

หนังเกาหลีใต้เรื่องแรกที่ทำยอดขายตั๋วทะลุหลัก 10 ล้านใบ คือ Silmido หนังดังปี 2003 เล่าถึงปฏิบัติการลับของกองทัพโสมขาว ที่ก่อตั้งหน่วยรบพิเศษเพื่อลอบสังหารผู้นำโสมแดง ขณะที่หนังดังเมื่อ 13 ปีที่แล้วใช้เวลาถึง 2 เดือนกว่าทำยอดผู้ชมเกิน 10 ล้านคน แต่ Train to Busan ทำเงินทะลุเป้าในเวลาเพียง 19 วัน เนื่องจากตอนนั้น Silmido มีโรงฉายเพียง 325 โรง ต่างจาก Train to Busan มีโรงฉายมากถึง 2,300 โรง การเติบโตของธุรกิจโรงหนังในเกาหลีใต้ ทำให้วันนี้มีหนังทำยอดผู้ชมทะลุหลัก 10 ล้านคนได้ง่ายกว่าในอดีต

 

                                Train to Busan (2016)

คัง ยู ชอง นักวิจารณ์หนังแดนโสมกล่าวว่า สิ่งที่หนังฮิตเหล่านี้มีเหมือนกัน คือการนำประเด็นถกเถียงที่อยู่ในความสนใจของสังคมมาตีแผ่ในหนัง ทั้ง The Host หนังสัตว์ประหลาดปี 2006 ที่ถากถางความไร้สมรรถภาพในการรับมือกับหายนะของรัฐบาลแดนโสม Veteran หนังฮิตปี 2015 ตีแผ่ความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นภายในเครือข่ายธุรกิจของตระกูลใหญ่ในเกาหลีใต้ ส่วน Attorney หนังดังปี 2013 ตั้งคำถามถึงขอบเขตเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ในยุค 80 จากเหตุการณ์ที่อาจารย์และนักศึกษากลายเป็นแพะรับบาป หลังถูกปรักปรำข้อหาฝักใฝ่รัฐบาลเกาหลีเหนือ

 

                                    The Host (2006)

นักวิจารณ์หนัง คิม ยอง ซอก ย้ำว่าอีกปัจจัยที่ทำให้หนังครองใจผู้คนนับสิบล้าน คือการนำเสนอเนื้อหาแปลกใหม่ ขณะที่ Train to Busan ได้ชื่อว่าเป็นหนังซอมบี้เรื่องแรกของเกาหลี หนังฮิตในอดีตอย่าง The Thieves ที่ทำยอดผู้ชมกว่า 12 ล้านคน ก็ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดหนังจารกรรมเรื่องแรกของชาติ ส่วน Tidal Wave ที่ทำยอดขายตั๋วถึง 11 ล้านใบ ก็เป็นครั้งแรกที่วงการหนังเกาหลีหันมาสร้างหนังหายนะ โดยจุดขายอยู่ที่ฉากสึนามิถล่มเมืองที่แสนเขย่าขวัญ

นอกจากการทุ่มทุนสร้างมหาศาลและทำให้หนังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์แล้ว สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังยอดขายตั๋ว 10 ล้านทุกเรื่องในวันนี้ คือการผูกขาดของค่ายใหญ่ โดย 2 ปีก่อน Roaring Currents หนังย้อนรอยวีรกรรมปกป้องชาติจากการรุกรานของญี่ปุ่น ทำสถิติเป็นหนังที่ชาวเกาหลีใต้ทั่วประเทศถึง 1 ใน 3 มารับชมในโรงหนัง แต่การที่หนังเรื่องนี้สร้างโดย CJ Group ค่ายหนังและเครือข่ายโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ นำไปสู่การลดรอบฉายหนังคู่แข่ง จนผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมหนังเรื่องอื่นๆ ลดลง ไม่ต่างจากการทำเงินของ Train to Busan ที่ได้ส่วนแบ่งขายตั๋วสัปดาห์แรกเกือบร้อยละ 60 เนื่องจากจัดจำหน่ายโดย Next Entertainment World หนึ่งในค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของแดนโสมเช่นกัน

CJ Group เคยออกมาแก้ต่างข้อวิจารณ์เรื่องการผูกขาดหนังดังของค่ายตนเอง โดยระบุว่ามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาว่าหนังแต่ละเรื่องควรมีรอบฉายเท่าไหร่ และย้ำว่าหนังจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะผลิตหนังได้โดนใจผู้ชมส่วนใหญ่มากกว่ากัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง