ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยพีบีเอสสรุปผลสอบข้อร้องเรียน "รสนา-มนูญ-พรายพล" กรณี "เถียงให้รู้เรื่อง"

สังคม
17 ส.ค. 59
18:50
580
Logo Thai PBS
ไทยพีบีเอสสรุปผลสอบข้อร้องเรียน "รสนา-มนูญ-พรายพล" กรณี "เถียงให้รู้เรื่อง"
"ไทยพีบีเอส" สรุปผลพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีรายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ตอน "สัมปทานปิโตรเลียมฯ" ชี้มีการขัดจริยธรรม 3 ประเด็น คือ การคัดเลือกผู้ร่วมรายการ ให้ข้อมูลผู้ร่วมรายการไม่ครบถ้วนและการตัดเนื้อหารายการ ชี้ไม่ควรให้บุคคลภายนอกมีส่วนในการผลิตรายการ

รายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ตอน "สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ได้คุ้มเสียจริงหรือ? " ออกอากาศเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2559 ซึ่งมีผู้นำเสนอข้อมูลและความเห็น 2 คน คือ นายมนูญ ศิริวรรณ และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล และมีนักวิชาการร่วมรายการในฐานะผู้ให้ความเห็น 2 คน คือ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านแรงงานและ ผศ.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวาณิช

ก่อนที่รายการจะออกอากาศ น.ส.รสนาได้ร้องเรียนว่ารูปแบบรายการไม่สมดุลเนื่องนักวิชาการ 2 คนมีความเห็นในกลุ่มเดียวกับนายมนูญ และขอให้มีการอัดรายการใหม่อีกครั้ง แต่นายมนูญไม่ยอม ทางทีมงานจึงแก้ปัญหาด้วยการตัดความเห็นของนักวิชาการออกไป

หลังจากออกอากาศ ผู้ร่วมรายการ 3 คน คือ นายมนูญ น.ส.รสนา และ ศ.ดร.พรายพล ได้ส่งจดหมายถึง "ไทยพีบีเอส" ต่อกรณีดังกล่าว

ดร.พรายพล ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2559 ขอให้สืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และบุคคลที่ทำให้มีการตัดความเห็นของเขาและผศ.ฐิติศักดิ์ ออกจากรายการ ต่อมาวันที่ 14 มิ.ย. น.ส.รสนา ได้ทำหนังสือร้องเรียนให้สอบสวนพิธีกรรายการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึงสาเหตุของการทำรายการในลักษณะที่ขาดความสมดุล และในวันที่ 15 มิ.ย.นายมนูญได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องการได้รับเชิญมาออกรายการดังกล่าว พร้อมทั้งตอบโต้ข้อกล่าวหาของ น.ส.รสนา และเรียกร้องให้ไทยพีบีเอสนำเทปบันทึกภาพรายการที่ไม่มีการตัดทอนมาออกอากาศเพื่อความกระจ่าง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2559 คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของไทยพีบีเอส ซึ่งมี น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ เป็นประธาน ได้ส่งหนังสือถึงผู้ร่วมรายการทั้ง 3 คน เพื่อแจ้งมติของคณะอนุกรรมการฯ ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของทั้ง 3 คน โดยมีการลงมติใน 4 ประเด็น ซึ่ง น.ส.รุ่งมณีได้อธิบายมติของคณะอนุกรรมการฯ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การคัดเลือกผู้ร่วมรายการ
ประเด็นนี้ น.ส.รสนาร้องเรียนว่า นายมนูญ ดร.พรายพล และ ผศ.ฐิติศักดิ์มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ทำให้รายการออกมาในลักษณะ "3 รุม 1" ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีมติว่าการคัดเลือกผู้ร่วมรายการเป็นไปในลักษณะที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพว่าด้วยความสมดุลและเป็นธรรม

ประเด็นที่ 2 การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนแก่ผู้ร่วมรายการ
ประเด็นนี้ น.ส.รสนาร้องเรียนว่า ไม่ได้รับแจ้งจากทีมงานว่าผู้ร่วมรายการทั้งหมดมีใครบ้าง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีมติว่าทีมงานให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนแก่ผู้ร่วมรายการจริง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพด้านความถูกต้อง เที่ยงตรง

ประเด็นที่ 3 การออกอากาศรูปแบบรายการที่แตกต่างจากปกติ โดยการตัดเนื้อหารายการในส่วนของนักวิชาการที่ให้ความเห็น จำนวน 2 คนออกไป
ต่อกรณีที่ ศ.ดร.พรายพล และนายมนูญร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการตัดความเห็นของนักวิชาการที่ร่วมรายการทั้ง 2 คนออกไปนั้น คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าการตัดความเห็นของนักวิชาการออกไปจากรายการ ทำให้รายการที่ออกอากาศมีรูปแบบที่แตกต่างจากปกติ เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพด้านความเป็นอิสระของวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ประเด็นที่ 4 พิธีกรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไม่เป็นธรรม
น.ส.รสนาร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพิธีกรรายการ คณะอนุกรรมการฯ มีมติว่าพิธีกรไม่ได้มีพฤติกรรมที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังมีความเห็นในกรณีที่ทีมงานได้เชิญ น.ส.รสนาไปดูเทปบันทึกรายการก่อนออกอากาศว่า "กรณีที่ทีมงานผู้ผลิตรายการยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปในส่วนการผลิตรายการ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในส่วนการผลิตรายการอย่างเด็ดขาด เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ เที่ยงตรง เป็นกลาง ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551"

ส่วนการดำเนินการกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องนั้น น.ส.รุ่งมณีกล่าว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะส่งผลการพิจารณาให้นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป 

หนังสือแจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนฉบับเต็ม

ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 ท่านได้แจ้งต่อประธานกรรมการนโยบายร้องเรียนการออกอากาศรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ซึ่งออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งท่านทราบความคืบหน้าตามหนังสือที่อ้างถึง 2 ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ในการนี้ คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ขอเรียนให้ทราบว่าได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของท่านโดยพิจารณาร่วมกับเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องรายอื่นในกรณีเดียวกันแล้ว และมีมติจำนวน 4 ประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 การคัดเลือกผู้ร่วมรายการ เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ ข้อ 5 จริยธรรมด้านความสมดุล เป็นธรรม ข้อ (5.1)
(5.1) การรายงานข่าวหรือการผลิตรายการโดยเฉพาะในประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง ต้องนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน สมดุล และเป็นธรรม

ในกรณีที่องค์การและ/หรือบุคลากรขององค์การกลายเป็นข่าว นักข่าวหรือผู้นำเสนอรายการ ต้องรายงานหรือนำเสนออย่างซื่อตรง ถูกต้อง ไม่ลำเอียงและไม่ถือพวกพ้อง

ประเด็นที่ 2 การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนแก่ผู้ร่วมรายการ เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ ข้อ 4 จริยธรรมด้านความถูกต้อง เที่ยงตรง ข้อ (4.4)

(4.4) ผู้ปฏิบัติงานด้านข่าวและด้านรายการ ต้องเปิดเผยตรงไปตรงมา และซื่อตรงต่อผู้ที่ตกเป็นข่าว แหล่งข่าวผู้ร่วมรายการ ผู้ให้ทัศนะความเห็น รวมทั้งผู้ชมผู้ฟังรายการ

ประเด็นที่ 3 การออกอากาศรูปแบบรายการที่แตกต่างจากปกติ โดยการตัดเนื้อหารายการในส่วนของนักวิชาการที่ให้ความเห็น จำนวน 2 คนออกไป เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ ข้อ 6 จริยธรรมด้านความเป็นอิสระของวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อ (6.1)(6.2) และ (6.3)

(6.1) ผู้บริหาร หรือ พนักงานต้องอิสระอย่างแท้จริงจากรัฐบาล กลุ่มและพรรคทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้สาธารณชนเชื่อมั่นในความเป็นอิสระ และความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
(6.2) กองบรรณาธิการ หรือคณะผู้รับผิดชอบในการผลิตรายการ ต้องมีอิสระในการคัดเลือกประเด็นการกำหนดเนื้อหา และวิธีการหรือรูปแบบการนำเสนอ โดยสามารถบอกเหตุผลในการตัดสินใจอย่างสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบขององค์กรต่อสาธารณะ
(6.3) กองบรรณาธิการ หรือคณะผู้รับผิดชอบในการผลิตรายการ ต้องรักษาเอกสิทธิความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานอย่างคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชมผู้ฟัง และความเชื่อถือต่อองค์กร สถานีและรายการ เป็นสำคัญ

ประเด็นที่ 4 พิธีกรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ ข้อ 4 จริยธรรมด้านความถูกต้อง เที่ยงตรง ข้อ (4.1)
(4.1) การนำเสนอข่าว หรือข้อมูล ต้องยึดถือข้อเท็จจริงความถูกต้อง เที่ยงตรง โดยการเลือกแหล่งข่าว แหล่งข้อมูล การใช้ภาษา การกำหนดเนื้อหา และวิธีการหรือรูปแบบการนำเสนอต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง มีการตรวจสอบตรวจทานเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ และข้อ 5 จริยธรรมด้านความสมดุลเป็นธรรม ข้อ (5.1)
(5.1) การรายงานข่าวหรือการผลิตรายการโดยเฉพาะในประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง ต้องนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน สมดุล และเป็นธรรม

ในกรณีที่องค์การและ/หรือบุคลากรขององค์การกลายเป็นข่าว นักข่าวหรือผู้นำเสนอรายการ ต้องรายงานหรือนำเสนออย่างซื่อตรง ถูกต้อง ไม่ลำเอียงและไม่ถือพวกพ้อง

โดยคณะกรรมการนโยบายได้มีมติรับรองมติของคณะอนุกรรมการฯ ในประเด็นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 26/2559 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 และรับรองรายงานการประชุมดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 27/2559 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559

ทั้งนี้ ในกรณีที่ทีมงานผู้ผลิตรายการยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปในส่วนการผลิตรายการ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในส่วนการผลิตรายการอย่างเด็ดขาด เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ เที่ยงตรง เป็นกลาง ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551

อนึ่ง ตามระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พ.ศ.2553 ข้อ 21 “หากผู้ร้องเรียนไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ โดยเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนโยบายพร้อมด้วยข้อโต้แย้งและพยานหลักฐาน ตลอดจนเหตุผลเพิ่มเติมภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง