ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ หรือคณะกรรมการไตรภาคีครั้งล่าสุดวานนี้ (19 ส.ค. 2559) ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงแนวทางการศึกษาศักยภาพพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกจากที่ประชุม แม้คณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของจังหวัด จะยืนยันว่าภายใน 3 ปีภาคพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในพื้นที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการใช้อย่างแน่นอน และเสนอที่ประชุมใหญ่ผลักดันการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมกับการศึกษาศักยภาพ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการไตรภาคี กล่าวกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสว่า การตั้งคณะกรรมชุดนี้ แม้ว่าจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายมาร่วมเป็นคณะทำงาน และมีการประชุมใหญ่รวม 4 ครั้ง นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 แต่ทุกครั้งที่มีการประชุมใหญ่ ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ และยังมีความเป็นไปได้สูงว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้อาจจะล้มเหลวในที่สุด เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลที่มาจากกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่ควรจะให้มีข้อสรุปจากคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ก่อน
นายเดชรัต สุขกำเนิด กรรมการคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กหลังการประชุมแล้วเสร็จว่า “วันนี้ ขอรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ หรือคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งประชุมกันบ่ายวันนี้
แหล่งข่าวจากเครือข่ายประชาชนปกป้องอันดามัน กล่าวว่า การประชุมแต่ละครั้งจะเป็นการชี้แจงข้อมูลการทำงานของคณะอนุกรรมการจากฝ่ายต่างๆ โดย กฟผ.ได้ชี้แจ้งก่อนหน้านี้ว่าได้ถอดรายงาน EHIA โรงไฟฟ้ากระบี่ จาก สผ.แล้ว แต่ก็ได้รับการยื่นยันจาก สผ.ว่า กฟผ.ยังไม่ได้ขอถอดการพิจารณา รายการ EHAI แต่อย่างใด และยังเดินหน้าประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยอ้างว่าต้องการให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และตามที่ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าไม่ได้ละเมิดข้อตกลงของคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากคณะกรรมการไตรภาคียังไม่มีข้อสรุป
“ที่ผ่านมาภาคประชาชน ยอมที่จะเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพราะว่า การพูดคุยและใช้เหตุผลในการเดินหน้าขับเคลื่อนด้านพลังงานน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ปรากฏว่าหลังมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ กฟผ.รวมถึงกระทรวงพลังงาน ก็ยังเฉไฉ ไม่มีความจริงใจที่จะศึกษาศัพยภาพพลังงานทางเลือกอย่างแท้จริง และยังพยายามผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่มีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาก ทำให้ภาคประชาชนเองพิจารณาว่าหากการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี ไม่สามารถทำให้เกิดการเดินหน้าพลังงานทางเลือกได้ตามที่ได้เสนอไปก็จะจะถอดตัว เพราะถือว่าเป็นเพียงการตั้งขึ้นมาบังหน้าเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ทาง กฟผ. ได้ประสานให้ผู้นำหมู่บ้านรอบพื้นที่ก่อสร้าง เขียนโครงการเข้ามายื่น เพื่อขอเงินสนับสนุนจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้า และได้มีการประสานหาพื้นที่เพื่อตั้งแคปม์ก่อสร้างแล้ว