ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยด้านแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนมีพลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.2 ที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีช่วงเช้าวานนี้ (24 ส.ค.2559) ตามเวลาในประเทศไทย และเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
เหตุแผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นในภาคกลางของอิตาลีทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 240 คน ส่วนแผ่นดินไหวในเมียนมามีจุดศูนย์กลางใกล้เมืองพุกาม สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งโบราณสถานชื่อดัง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และมีเจดีย์โบราณเสียหายเกือบ 200 แห่ง
ผศ.ดร.ภาสกรกล่าวว่า แผ่นดินไหวที่อิตาลีเกิดจากการชนกันของแผ่นธรณีหลายแผ่นบริเวณแนวเทือกเขาแอล์ป ตอนกลางของประเทศ ในขณะที่แผ่นดินไหวในเมียนมาเกิดที่ความลึกประมาณ 84 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ค่อนข้างลึกเกือบถึงขอบล่างสุดของแผ่นธรณี
แผ่นดินไหวในเมียนมารู้สึกสั่นไหวได้ในกรุงเทพฯ อินเดียและบังคลาเทศ โดยมีรายงานว่าประชาชนที่อยู่ในอาคารสูงทั้งใน จ.เชียงใหม่และกรุงเทพฯ รู้สึกถึงการสั่นไหว อันเป็นผลมาจากชั้นดินอ่อนและลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ประกอบกับการสั่นพ้องของอาคารสูง
ผศ.ดร.ภาสกรอธิบายว่า ผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาสู่สังคมไทย นั้นคือความวิตกกังวลของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อจะได้มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ประเมินระดับอันตรายของแผ่นดินไหวในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องร่วมกับการเตรียมพร้อมในภาคประชาชนและสังคม เพื่อลดการสูญเสียจากแผ่นดินไหว
แรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงอาคารหลายแห่งในนครย่างกุ้ง รวมทั้งกรุงเนปิดอว์เมืองหลวงของเมียนมา หลายพื้นที่ของประเทศบังคลาเทศ รวมถึงยังรับรู้ได้ไกลถึงกรุงเทพมหานคร
แผ่นดินไหวในเมียนมาไม่กระทบภาคเหนือ
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหลายจังหวัดภาคเหนือ ต่างเร่งตรวจสอบผลกระทบ
นายไพรินทร์ ลิ้มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า จากการตรวจสอบไปยังหน่วยงานในพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ พบบางพื้นที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายใดๆ ขณะที่สำนักงานชลประทานเชียงใหม่ รายงานว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ในอ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนไม่เกินค่าสูงสุดที่เขื่อนรับได้ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นายเพิ่มวิทยา กันทะทรง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า หลังได้รับรายงานเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย คาดว่าเป็นเพราะในพื้นที่ไม่มีอาคารสูง ประชาชนจึงไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่จ.เชียงราย
นายสว่าง ม่อมดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ระบุว่า แม้แผ่นดินไหวครั้งนี้จะมีความรุนแรงเกือบ 7 ริกเตอร์ แต่ยังไม่มีรายงานแรงสั่นสะเทือน หรือความเสียหายเข้ามาแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าแรงสั่นสะเทือนจะฟาดลงไปในทิศตะวันตก และพื้นที่ จ.เชียงราย จะเป็นพื้นที่ชั้นหินแข็งจึงทำให้ไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ได้ประสานให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องทั้ง 18 อำเภอเร่งทำการสำรวจอย่างละเอียด และเฝ้าระวังติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประชาชนเตรียมความพร้อมตลอดเวลาเพราะอาจมีอาฟเตอร์ซ็อกตามมาได้อีก
กฟผ. เหตุแผ่นดินไหวเมียนมา ไม่ส่งผลกระทบเขื่อน
นายเดชา บุณยะกาญจน ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยัน เหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ที่เมียนมา ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน เนื่องจากมีการเฝ้าระมัดและตรวจสอบอย่างดีตลอดเวลา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขือนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์