ขณะที่จำนวนคนหายในประเทศไทยมีสถิติเพิ่มขึ้นทุกปี ป้ายประกาศ คือ อีกหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยในการตามหา แต่คำถามก็คือ คุณจำใบหน้าของคนหายเหล่านี้ได้หรือไม่ ความเป็นจริงก็คือ น้อยคนนักที่จะจำภาพคนที่ไม่คุ้นเคยได้
เพื่อทำให้ป้ายประกาศเหล่านี้ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการตามหาคนหาย ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา และบริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ (BBDO Bangkok) จึงร่วมกันคิดวิธีการใหม่ที่จะทำให้คนทั่วไปจำหน้าคนหายได้ง่ายขึ้นโดยการนำบุคคลที่คนทั่วไปรู้จักและจดจำใบหน้าได้มาเทียบเคียงกับคนหาย
เฟซบุ๊กมูลนิธิกระจกเงาได้เผยแพร่รูปภาพและคลิปวิดีโอแคมเปญ "คนหายหน้าเหมือน" โดยนำภาพสเก็ตช์ของคนหายมาจับคู่กับคนดัง ดารานักแสดง 4 คน คือ
อาไท-นายศุภทัต โอภาส ช่วยตามหา ด.ช.ธนวรรธน์ แก้วตา หรือ น้องอั้ม อายุ 5 ปี สูง 110 ซม.ที่มีใบหน้าคล้ายเขา
เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน จับคู่กับ ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม หรือ น้องจีจี้ ที่หายตัวไปนาน 6 ปี แล้ว หากยังมีชีวิตอยู่เธอจะมีอายุ 14 ปี
หมู-ดิลก ทองวัฒนา นักแสดงรุ่นใหญ่ เปรียบเทียบใบหน้าของเขากับภาพสเก็ตช์ของนายสหัส ปทุมยา อายุ 53 ปี สูง 160 เซ็นติเมตร ที่หายตัวไปจากตลาดพูลทรัพย์
อุ่นเรือน ราโชติ ผู้รับบทลำดวน ในซีรีส์ "บางรักซอย9" ชวนให้คนจดจำใบหน้าของนางแพรพรรณ อาสนา อายุ 47 ปี สูง 155 เซ็นติเมตร ที่มีใบหน้าและรอยยิ้มคล้ายกับเธอ
นอกจากนี้ยังมีดารานักแสดงและบุคคลที่เป็นที่รู้จักมาร่วมรณรงค์ตามหาคนหายจากใบหน้าเหมือนอีกหลายคน เช่น พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (โย่ง เชิญยิ้ม) นวลนง จามิกรณ์ (แม่ของ "แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์") นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ (ต๋อย เซมเบ้) และ รวิชญ์ เทิดวงส์
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงกล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้คนอาจจะจำหน้าคนหายที่ประกาศตามหาผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่ได้ หรือมองว่า การประกาศตามหาคนหายเป็นเรื่องเศร้า ไม่ใช่คนในครอบครัวจึงไม่ค่อยแชร์รูปและข้อมูลของคนหายมากนัก
แต่เมื่อนำมาจับคู่กับคนดัง น่าจะช่วยกระตุ้นให้จำหน้าคนหายได้ง่ายขึ้น ยิ่งภาพของคนหายถูกส่งต่อออกไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งนำไปสู่การสังเกต จดจำและร่วมกันแจ้งเบาะแส เพื่อติดตามคนหายเหล่านี้ นายเอกลักษณ์กล่าว
ข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงาระบุว่า ปี 2558 มีเด็กหาย 592 คน และตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2559 มีเด็กหายกว่า 300 คน หรือเฉลี่ยเดือนละ 30-50 คน สาเหตุเพราะอาจถูกล่อลวง สมัครใจออกจากบ้าน หรือติดอินเทอร์เน็ตจนถูกล่อลวง ส่วนการประกาศตามหาคนหาย สามารถช่วยติดตามคนหายกลับสู่ครอบครัวได้ ร้อยละ 80