ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พลิกปมข่าว : ใครชี้ชะตา...พลังงานทางเลือก

สิ่งแวดล้อม
31 ส.ค. 59
20:46
512
Logo Thai PBS
พลิกปมข่าว : ใครชี้ชะตา...พลังงานทางเลือก

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ชะลอการเดินหน้าโครงการเอาไว้ก่อน และตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ หรือ คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชน ร่วมศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพลังงานทางเลือก ตามข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน โดยขอเวลา 3 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าศักยภาพพลังงานทางเลือกในจังหวัดกระบี่ มีมากเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต แต่ยังไม่ทันมีข้อสรุปจากคณะกรรมการไตรภาคี 

รัฐบาลก็ประกาศชัดแล้วว่า ยังไงก็ต้องเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ประเด็นนี้ กำลังเป็นคำถามของภาคประชาชนที่ร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีหลายหรือครั้งล่าสุด ก็ยังไม่มีข้อสรุปผลการศึกษาศักยภาพพลังงานทางเลือกที่ชัดเจน แม้ว่าคณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกของจังหวัดกระบี่ จะเสนอไปแล้ว แต่ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ.อยู่ดี สรุปท้ายการทำงานของคณะกรรมชุดนี้ ผ่านไป 8 เดือนตามกรอบเดิมที่วางไว้ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

แต่การออกมาประกาศชัดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ถึงอย่างไร ก็ต้องเดินหน้าทุกโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผนพีดีพี 2015 กำหนดไว้ว่าจะลดการพึ่งพาใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และเดินหน้าใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 -25 ทำให้จำเป็นต้องผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา

เหตุผลของกฟผ. เห็นว่า พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ที่มีอยู่ ยังมีความเสี่ยง และไม่มีความมั่นคงเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีกสุดในภาคใต้ 2,713 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี และมีแนวโน้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

 

ทำให้เมื่อเทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งภาคใต้ ณ ปัจจุบันจากโรงไฟฟ้าทั้งหมดรวมแล้ว 3,054 เมกะวัตต์ ยังไม่มั่นคงเพียงพอ เนื่องจากตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่พึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลาง และประเทศมาเลเซีย

เป็นเหตุผลที่ กฟผ.บอกมาตลอดว่า จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพผลิตพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ตามแผนที่กำหนดไว้ คือต้องสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน และสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ให้ทันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 860 เมกะวัตต์ให้ได้ภายในปี 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เฟส 1 ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564

ขณะข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินมองว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้เพียงพอ หากมีการบริหารจัดการรวมกับโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ ให้มีประสิทธิภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงถ่านหิน

นี่จะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของภาคประชาชนในจังหวัดกระบี่ ซึ่งคณะอนุกรรมการการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกของจังหวัดกระบี่ ยืนยันผลการศึกษาความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2562 ของจังหวัดกระบี่ เช่น ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวล ชีวภาพ ขยะชุมชน แสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก รวมแล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 287 เมกะวัตต์ และในระยะยาว 10 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มถึง 1,411 เมกะวัตต์ ซึ่งศักยภาพที่กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ จะต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐบาลด้วย ที่จะต้องขจัดปัญหาอุปสรรคที่ยังไม่รองรับหลายประเด็น

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน คณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกของจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ต้องขจัดปัญหาอุปสรรค หลายประเด็น เช่น 1.เรื่องของระบบสายส่งที่รองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคส่วนต่าง ๆ 2.ในเรื่องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน คือการเปิดรับซื้อกระแสไฟฟ้า เพราะจู่ ๆ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศหยุดรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ทำให้ผู้ที่จะมาลงทุน เกิดความไม่มั่นใจ

ขณะเดียวกันก็มีหลายส่วนที่ลงทุนไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำสัญญาผูกมัดเพื่อขายกระแสไฟฟ้า เมื่อลงทุนไปแล้วก็สร้างโรงงานเสร็จแล้วก็มี แต่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขายได้ ก็สร้างความไม่มั่นใจให้กับเอกชนที่จะลงทุนได้ 3.เรื่องการให้การสนับสนุนของภาครัฐ โดยรัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนและจะต้องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานทางเลือกอย่างไบโอแก๊ส และไบโอแมส ซึ่งใช้เชื้อเพลิงผลผลิตทางการเกษตร สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ 42 เมกะวัตต์ แต่สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่หยุกชะงัก ทำให้ต้องเผาแก๊สที่ผลิตได้ทิ้งไป ทั้งที่มีความพร้อมที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง