แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระบุกับ "ไทยพีบีเอส" ว่าไทยไม่จำเป็นต้องคัดค้านการขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกระท่อมของญี่ปุ่น เนื่องจากสิ้นสุดกระบวนการตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2559 ซึ่งผู้ขอต้องแสดงความประสงค์ภายใน 30 เดือน โดยนับจากวันยื่นคำขอครั้งแรกที่ญี่ปุ่น
ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อมูลการแถลงข่าวของมูลนิธิชีววิถี ที่ระบุว่ากระบวนการ PCT จะถูกส่งมาให้ประเทศไทยพิจารณาว่าจะรับรองสิทธิบัตรกระท่อมของญี่ปุ่นหรือไม่ จะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2560
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เห็นว่าหากกรมทรัพย์สินทางปัญญายึดกรอบเวลาดังกล่าว หมายความว่าขณะนี้ขั้นตอนพิจารณารับรองสิทธิบัตรของญี่ปุ่นมาถึงไทยแล้ว แต่ที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องคัดค้าน อาจเป็นไปได้ว่าไทยไม่รับรองสิทธิบัตรนี้ หรือญี่ปุ่นอาจขอถอนการพิจารณาในไทยออกไปเอง หากเป็นเช่นนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญหายิ่งต้องเร่งส่งหนังสือคัดค้านไปยังประเทศสมาชิก PCT อีก 146 ประเทศ ไม่ให้รับรองสิทธิบัตรสารสกัดจากกระท่อมของญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะถือว่าญี่ปุ่นกระทำการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ที่นำพืชประจำถิ่นของไทยไปศึกษาวิจัย
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ยังเรียกร้องไปถึงกรมวิชาการเกษตร ให้สอบสวนการขออนุญาตศึกษาวิจัยพืชกระท่อมของทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังในไทย ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เพราะจัดเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป การทำวิจัยไปใช้ประโยชน์ต้องขออนุญาตและมีข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 แม้เบื้องต้นพบการอ้างที่มาของกระท่อมในการยื่นจดสิทธิบัตรของญี่ปุ่นว่ามาจากการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลหลักฐานการนำพืชกระท่อมไปใช้ในการรักษาถือเป็นภูมิปัญญาของไทย ซึ่งขัดทั้งหลักตามอนุสัญญา CBD และขัดต่อกฎหมายไทยด้วย
ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถี ยังพบว่าขณะนี้มีพืชของไทยที่อยู่ในข่ายความเสี่ยงถูกจดสิทธิบัตร โดยผลงานวิจัยจากทีมนักวิจัยชุดเดียวกันคือ สร้อยนางกรอง, มะเค็ด หรือสามใบตาย ซึ่งพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติระงับปวดคล้ายกระท่อม, นมหนู หรือมะป่วน รวมถึงมูกขาว หรือยางขาว ดังนั้นทางมูลนิธิและเครือข่ายภาคประชาชนจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ภายในสัปดาห์นี้