วันนี้ (10 ก.ย.2559) นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เปิดเผยในงาน 30 ปี งานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดขึ้นว่า นวัตกรรมเขื่อนไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาแล้งและน้ำท่วมได้ เนื่องจากประเทศไทยมีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายเขื่อน แต่น้ำยังแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะบทเรียนจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน หรือเขื่อนรัชชประภา ที่เดิมสร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและรองรับระบบชลประทานประมาณ 150,000 ไร่ แต่ปัจจุบันผ่านมา 30 ปียังไม่มีระบบชลประทานรองรับพื้นที่เกษตรกรรมตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และเมื่อมีเขื่อนก็ส่งผลให้การดูแลป่าต้นน้ำและการดูแลระบบนิเวศตลอดลำน้ำไม่ถูกให้ความสำคัญ เพราะคิดว่าเขื่อนจะแก้ปัญหาได้
“การสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานมีวัตถุประสงค์ที่รองรับหลายด้านทั้งการท่องเที่ยว การเกษตร การผลิตไฟฟ้า การคมนาคม แต่ที่ผ่านมา เขื่อนเชี่ยวหลานไม่ได้ตอบโจทย์การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรเลย เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้ต้องการน้ำแบบภาคอื่นๆ ทำให้ระบบชลประทานยังไม่ได้เดินหน้า ทำให้การลงทุนสร้างเขื่อนไม่มีความคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และสัตว์ป่าที่ต้องสูบเสียไป” นายหาญณรงค์ กล่าว
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมักสร้างวาทกรรมว่าการสร้างเขื่อนเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าจำนวนมากหลายเขื่อน แต่ไม่สามารถตอบโจทย์และเป็นไปตารมวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไม่เพียงพอกับที่วางเป้าหมายไว้ และไม่มีพื้นที่ใดที่เหมาะสมทจะสร้างเขื่อนอีกแล้ว การบริหารจัดการน้ำควรหาวิธีการจัดการในรูปแบบอื่น เช่น ฝายขนาดเล็ก โดยไม่ต้องลดพื้นที่ป่าและสร้างผลกระทบต่อสัตว์ป่า
“วันนี้เขื่อนทุกขนาด ไม่ควรเกิดขึ้นในผืนป่าแล้ว ควรจะมาคำนึงถึงพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่มีอยู่ จะเก็บรักษาได้อย่างไร ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ควรจะมี ส่วนเพิ่มพื้นที่ป่าได้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงคิดว่าวันนี้เรามาถึงจุดที่นโยบายรัฐบาลต้องมีการปรับแก้อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่มองเรื่องการจัดการน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนที่จะมาตอบโจทย์เรื่องของพื้นที่เกษตรกรรม หรือมีน้ำอยู่ในเขื่อน แต่มาตอบโจทย์เรื่องปัญหาน้ำท่วม เพราะไม่ใช่ทางแก้ปัญหา จึงคิดว่าจากเป้าหมายที่รัฐบาลจะเพิ่มพื้นที่ป่า ควรปรับแนวคิดให้เหมาะสม เพราะชัดเจนว่าการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าเป็นบทเรียนที่ล้มเหลว” นายหาญณรงค์ กล่าว
ด้านนางตวงรัตน์ โพธิ์เที่ยง หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ในฐานะที่เป็นทีมอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน กล่าวในเวทีเสวนาบทเรียนอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานว่า การอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นบทเรียนสำคัญที่ถูกนำมาเป็นคำภีร์ทำการช่วยเหลือสัตว์ป่า ในกรณีที่มีโครงการเขื่อนเกิดขึ้นในผืนป่า อย่างเขื่อนห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ได้มีการนำบทเรียนจากนายสืบ นาคะเสถียร มาใช้ในการสำรวจและวางแผนในระยะเวลาที่เหมาะสมกับการให้ความช่วยเหลือ
“เราไม่ควรสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่มีป่าสมบูรณ์ เพราะเมื่อมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำหลายทั้งหมด ทั้งพันธุกรรมสัตว์ป่า ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สูญเสีย และมนุษย์ไม่สามารถสร้างให้กลับขึ้นมาได้ แม้ว่าจะมีการอพยพสัตว์ป่าย้ายที่อยู่ใหม่ ก็ยังมีผลกระทบต่อแหล่งอาศัย และพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่หายไป นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างชดเชยสิ่งที่หายไปได้” นางตวงรัตน์ กล่าว
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ครบ 26 ปีการเสียชีวิตของนายสืบ นาคะเสถียร นักพิทักษ์ป่าที่ต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หนึ่งในภารกิจที่ผ่านมา คือการอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แต่ภารกิจล้มเหลวเพราะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้แค่ 1 ใน 10 หรือประมาณ 1,000 ตัวจาก 10,000 ตัว เกิดความสูญเสียอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้
“เรื่องราวนี้เป็นบทเรียนจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะการเลือกพื้นที่จะต้องไม่กระทบพื้นที่สำคัญทางธรรมชาติ อย่างกรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์ มีข้อมูลทางวิชาการระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าสำคัญควรอนุรักษ์ แต่กรมชลประทานยังยืนยันจะสร้าง จึงอยากให้หยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เก็บป่า เก็บสัตว์ป่าไว้ แล้วหาแนวทางสร้างแหล่งน้ำใหม่ และหากยังมีการสร้างเขื่อนหมายความว่าตลอดเวลาการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ป่าทั้งหมดประชาชนปฏิเสธการอนุรักษ์” นายศศิน กล่าว