วันนี้ (12 ก.ย. 2559) ใครจะรู้ว่า “แคทราย” ต้นไม้ประจำถิ่นบ้านคูบัว จ.ราชบุรี จะกลายเป็นผ้าจกลายใหม่ เพราะเมื่อหลายปีก่อนปราชญ์ชุมชน “ครูอุดม สมพร” เริ่มต้นจากการสังเกตต้นไม้ใกล้บ้าน ก่อนแกะแบบดอกแคทรายมาเป็นลายผ้าจก ทุกวันนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของคูบัว
ปราชญ์วัย 75 ปี ยังคิดค้นลายใหม่ ใช้ความรู้ด้านผ้าจกจากบรรพบุรุษไทยวนที่อพยพจากภาคเหนือมายังราชบุรี เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวที่ยังคงสานต่อลายผ้าโบราณ เช่น “ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า” หรือ “นกกินน้ำร่วมต้น” ที่ทุกวันนี้ยังพบได้ในกลุ่มชาวไทยวนภาคเหนือ ถือเป็นลายที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์
ส่วนเอกลักษณ์ของผ้าจกคูบัว คือการทอด้วยพื้นสีดำ จกด้วยสีแดง แซมด้วยสีเหลือง เขียว ฟ้า หลายลวดลายเป็นลายดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ครูอุดม อธิบายว่า ที่ใช้สีแดง-ดำเพราะเป็นสีร่วมระหว่างคนเผ่าไต ทั้งไตลาว ไตลื้อ ไตยวน ชาวบ้านในพื้นที่ก็เป็นคนเผ่าไต เลยสื่อวัฒนธรรมกันมาแต่โบราณ แต่เผ่าไตยวนมาอยู่ที่ราบสีเลยมาโดดเด่นอยู่ที่กลุ่มของคนยวน
ขึ้นชื่อว่าผ้าจก ขั้นตอน “จก” หรือที่ในภาษาถิ่นภาคเหนือ หมายถึงการควักเส้นด้ายด้วยขนเม่น จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดที่ปราชญ์คูบัวถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชน
เกือบ 30 ปี นอกจากสอนให้กับผู้ที่สนใจ ยังรวบรวมลายผ้าเก่าของแต่ละครอบครัวบันทึกไว้เป็นฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ทำหลักสูตรทอผ้าจกให้เป็นวิชาเสริม เพิ่มช่างทอรุ่นเยาว์ในชุมชน
นภา ศรีจันทร์เฟื้อ ครูสอนทอผ้าจกคูบัว โรงเรียนแคทรายวิทยา จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน การทอผ้าจกคูบัวเกือบจะสูญหาย ทางโรงเรียนเลยสืบทอดให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 หัดเรียนหัดลองทำ เห็นว่าเป็นมรดกของชุมชนที่ควรอนุรักษ์ไว้
ความร่วมมือของชุมชน ยังทำให้มีการรวบรวมผ้าจกโบราณในพื้นที่กว่า 100 ผืน มาจัดแสดงในจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว เป็นทั้งฐานข้อมูลลายผ้าและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน บอกเล่าตัวตนคนไทยวนคูบัว จ.ราชบุรี ที่เชื่อมโยงกับชาวไทยวนต่างท้องถิ่น