เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก การท่องเที่ยวที่เติบโตแม้จะทำให้มีรายได้ แต่ก็สร้างปัญหาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาขยะบนเกาะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 150 ตัน และขยะเก่าที่ตกค้างอยู่ประมาณ 300,000-400,000 ตัน
วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจบนเกาะสมุยในนาม "มูลนิธิเกาะสีเขียว" ที่หวังจะปกป้องสมุยและทำให้เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมต่อไป
อานนท์ วาทยานนท์ เป็นหนึ่งในคนที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของมูลนิธิฯ เขาเกิดที่ จ.นราธิวาส แต่ย้ายมาอยู่ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์สมุยอักษรและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิเกาะสีเขียวซึ่งก่อตั้งมาเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว โดยมีนายเรืองนาม ใจกว้าง เป็นประธาน
เว็บไซต์ของมูลนิธิฯ อธิบายถึงที่มาของคำว่า "เกาะสีเขียว" ว่า "ความหมายของ 'สีเขียว' ครอบคลุมไปทุกส่วนที่ประกอบกันเป็นเกาะสมุย สีเขียว คือธรรมชาติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสดชื่นเขียวขจีของพรรณไม้ ที่ช่วยให้เกาะสมุยสวยงามมีอากาศสดชื่นพื้นดินอุดมสมบูรณ์ สีเขียว คือความกลมกลืนของสิ่งปลูกสร้างกับสภาพแวดล้อม ที่มีรูปแบบสวยงาม มีระบบดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มเปี่ยม สีเขียว คือจิตสำนึกของผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว ประชาชนผู้อยู่อาศัย หน่วยงานของรัฐ ที่ร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนต่อสังคมเกาะสมุยด้วย ความปรารถนาดีและใส่ใจรับผิดชอบ"
"มูลนิธิเกาะสีเขียวจะทำงานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมบนเกาะสมุยเป็นหลัก เนื่องจากมีวัตถุประสงค์จัดตั้งมาเพื่อคนเกาะสมุยโดยตรง เช่น ปัญหาขยะและการขาดแคลนน้ำ เป็นต้น คณะกรรมการของมูลนิธิมี 7-8 คนจะมาจากตัวแทนภาคธุรกิจและผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย โดยเราจะเข้าไปเป็นตัวเชื่อมกับหน่วยงาน องค์กร และชุมชนต่างๆ ในการแก้ปัญหาแต่ละด้าน" อานนท์แนะนำการทำงานของมูลนิธิฯ
คณะกรรมการมูลนิธิฯ จะประชุมกัน 2-3 เดือนต่อครั้ง กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นตัวประสานระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับองค์กรต่างๆ รายส่วนหนึ่งของมูลนิธิฯ มาจากการบริจาคของผู้สนับสนุน รวมทั้งการตั้งตู้รับบริจาคที่สนามบินสมุย ซึ่งจะนำมาจัดสรรทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
อานนท์ วาทยานนท์ กรรมการมูลนิธิเกาะสีเขียว
"ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับสมาคมท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย และเทศบาลนครเกาะสมุยในการเข้าไปร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในโครงการ 7 Greens ส่วนในปัจจุบันที่ทำอยู่เป็นเรื่องการสนับสนุนโครงการฝายมีชีวิต" เขาระบุ "บางครั้งมูลนิธิฯ จะให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมของชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และโรงเรียน"
งานล่าสุดที่มูลนิธิฯ เข้ามีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ก็คือการแก้ปัญหาขยะบนเกาะสมุย
"ปัญหาขยะบนเกาะสมุยมีมายาวนานแล้ว แต่แตกต่างที่ระดับความรุนแรงมากกว่า ในฐานะที่เป็นกรรมการมูลนิธิฯ ผมได้เป็นตัวเชื่อมและเข้าไปทำงานร่วมกับภาคชุมชนที่หาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะสมุย ซึ่งมีแนวทางเน้นในเรื่องของการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบขยะในส่วนที่ตัวเองผลิตขึ้นมา ซึ่งในส่วนนี้จะต้องอาศัยทั้งเรื่องของจิตสำนึก และกฎหมาย ระเบียบที่ทางเทศบาล หรือเทศบัญญัติจะต้องออกมาควบคู่กัน และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วด้วย" อานนท์อธิบาย
เมื่อเร็วๆ นี้ อานนท์เป็นตัวแทนของมูลนิธิฯ เข้าไปร่วมในคณะทำงานภาคประชาชนในการแก้ปัญหาขยะบนเกาะสมุย ซึ่งได้ทำข้อเสนอต่อเทศบาลนครเกาะสมุย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อานนท์เคยโพสต์ความเห็นต่อการแก้ปัญหาขยะในเฟซบุ๊กของเขาไว้ว่า "ขยะเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นทางที่มาของขยะคือผู้ผลิตสินค้า กลางทางคือผู้บริโภคและปลายทางคือผู้กำจัดขยะ ปัญหาขยะที่ทวีความรุนแรงเพราะเราเคยชินกับการแก้ไขแบบแยกส่วนต่างคนต่างทำตามกรอบอำนาจเป็นส่วนๆ แก้ที่หนึ่งแต่ไปก่อปัญหาอีกที่หนึ่ง แก้เรื่องขยะแต่ไปก่อปัญหาสุขภาพและห่วงโซ่อาหารของชุมชนหรือไปทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อม. ขยะแก้ไม่ยากถ้าเราเคารพและปกป้องธรรมชาติเหมือนที่เราเคารพและปกป้องบุพการีของเรา"
แม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิกฤตขยะหลายแสนตันที่ตกค้างบนเกาะสมุย ยังไม่นับขยะที่ผลิตใหม่วันละ 150 ตัน จะต้องใช้เวลาและความพยายามอีกมากในการแก้ไข และฟื้นฟูเกาะสมุยให้กลับมาเป็น "สีเขียว" ได้ดังเดิม แต่อย่างน้อยความมุ่งมั่นของคนกลุ่มเล็กๆ อย่าง มูลนิธิเกาะสีเขียวที่จะ "กอบกู้" เกาะสมุย ก็ทำให้มีความหวังว่าสักวันเกาะสมุยจะผ่านพ้นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังรุมเร้าไปได้ และกลายเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
มีนา บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน