แม้ว่าในพื้นที่ อ.เสนา จะไม่มีฝนตกหนัก แต่การอยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาทุกปี ล่าสุดระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนบางส่วนคาดว่าอาจจะต้องอพยพออกจากบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย
นายนาค กิจเกตุ ชาวบ้าน ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน เนื่องจากชั้นล่างมีน้ำท่วมสูง เขาบอกว่าไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าควรจะย้ายหรืออยู่ในบ้านต่อเนื่องจากข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน
"ทหารแจ้งอย่างหนึ่ง หน่วยงานอื่นก็แจ้งอีกอย่างหนึ่ง ถ้าฝนตกน้ำก็ขึ้นเร็ว แต่ถ้าฝนไม่ตกก็ขึ้นช้าหน่อย ระยะนี้ฝนไม่ค่อยตกใน อ.เสนา ไปตกที่อื่นแต่น้ำไหลลงมาทางนี้" นายนาคกล่าว
น้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม่น้อยแทบไม่มีน้ำเพราะแล้งรุนแรง ชาวบ้านให้ความเห็นว่าแม้น้ำจะท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี แต่การบริหารจัดการน้ำยังขาดบูรณาการ หากยังไม่ผันน้ำเข้าทุ่งนาที่ เก็บเกี่ยวไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ระดับน้ำน้ำที่ท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 3-4 เมตรก็จะไม่ลดลง
ชาวบ้านส่วนหนึ่งเรียกร้องให้กรมชลประทานระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำบางบาลและทุ่งเสนา หลังชาวบ้านหลายพันหลังคาเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านเรือน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งยังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่แล้วเสร็จหลายร้อยไร่
นายประยุทธ ไกรสิงห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก จึงเห็นว่าควรมีการผันน้ำเข้าที่นา
"นาข้าวที่จะถูกใช้เป็นพื้นที่รับน้ำอาจมีแค่ประมาณ 100 ไร่ เทียบกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้้ำท่วมมีนับพันครัวเรือน" นายประยุทธกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจำนวนครั้้งการปลูกข้าวของชาวนาให้ชัดเจนว่าใน 1 ปี สามารถปลูกได้กี่ครั้ง
"อยากให้กำหนดให้แน่นอนว่าชาวนาปลูกข้าวได้กี่ครั้งในแต่ละปี เพราะเราเจอน้ำท่วมทุกปี ถ้าไม่กำหนดให้แน่นอนว่าปลูกข้าวได้ถึงเดือนไหน พอเกิดปัญหาก็ผันน้ำเข้านาไม่ได้อีก" นายประยุทธระบุ
อ.เสนา เป็นพื้นที่ที่อยู่ด้านท้ายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ยิ่งเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำมามากเท่าไหร่ จุดนี้ก็จะท่วมหนักเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ล่าสุดขณะนี้มีประชาชนประสบภัยน้ำท่วมกว่า 2,000 หลังคาเรือน
กทม.ยังท่วมขังหลายจุด "เมืองทอง" กลายเป็นคลอง
เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นจุดที่มีน้ำท่วมขังหนักสุดที่สุดจุดหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลังจากฝนตกหนักเมื่อคืนนี้ ประกอบกับวันนี้ (25 ก.ย.2559) มีการซ้อมรับปริญญาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำให้บรรยากาศในเมืองทองเป็นไปด้วยความทุลักทุเล
บัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชหลายคนต้องขึ้นรถกระบะของอาสาสมัคร มูลนิธิปอเต็กตึ้งเข้าไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อซ้อมรับปริญญาในวันนี้ เพราะตั้งแต่บริเวณปากซอย แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 33 จนถึงมหาวิทยาลัย มีน้ำท่วมขังรอการระบาย ตลอดเส้นทางสูงกว่า 30 เซนติเมตร ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก
นายอาทิตย์ ทองคำ หนึ่งในนักศึกษา มสธ. ที่มาซ้อมรับปริญญา ระบุว่า แม้จะประสบกับปัญหาการเดินทาง แต่ก็ต้องพยายามเข้าไปรายงานตัวยังมหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะยังไม่มีการแจ้งเลื่อนการซ้อมรับปริญญา
นายเสถียร บุระกรณ์ คนขับมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง หน้าปากซอยแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 33 เปิดเผยว่า น้ำท่วมมาตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ (24 ก.ย.) ระดับน้ำสูงเหนือเข่า ซึ่งล่าสุดแม้จะลดลงมาบ้าง แต่รถมอร์เตอร์ไซด์ก็ยังไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ ต้องเลี่ยงไปเส้นทางอื่น ขณะที่บนถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงหน้าทางเข้าเมืองทองธานี รถสามารถวิ่งได้สองถึงสามช่องทางเท่านั้น ขณะเดียวกันมีรถยนต์จอดเสียหลายคันจึงทำให้การจราจรติดขัด
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีและกรมชลประทานสั่งเดินเครื่องสูบน้ำในสถานีสูน้ำปากคลองรังสิต ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี จำนวน 6 เครื่อง อัตราสูบ 36 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้สอดรับกับการดึงน้ำจากคลองเปรมประชากร ให้ไหลขึ้นเหนือมาลงคลองรังสิต อ.ธัญบุรี แล้วไหลตามคลองรังสิต ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีปากคลองรังสิต ซึ่งจะช่วยระบายน้ำจากหมู่บ้านเมืองเอกและเขตเทศบาลตำบลหลักหกให้ลดระดับเร็วขึ้น
ฝนตกหนัก-ระดับน้ำในแม่น้ำเอ่อท่วมหลายจังหวัดทั่วประเทศ
เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ฝนที่ตกมาตลอดทั้งคืน เริ่มส่งผลกระทบน้ำล้นตลิ่งและท่วมบ้านเรือน ที่ตำบลน้ำตาล ตำบลประศุก ตำบลท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จังหวัดอ่างทองนำเรือพลาสติกกว่า 100 ลำ พร้อมห้องสุขาเคลื่อนที่ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในตำบลโผงเผง อ.ป่าโมก หลังน้ำจากคลองโผงเผง คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อเข้าท่วมตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.รวมกว่า 200 หลัง
จังหวัดปทุมธานี เกิดฝนตกหนักนานหลายชั่วโมง และน้ำท่วมขังในชุมชนบางพูน ชุมชนศาลาแดง ชุมชนบางกระดี และหมู่บ้านรังสิตซิตี้ เขตอำเภอเมืองปทุมธานี ชาวบ้านยังประสบปัญหา ปลิงควายจำนวนมาก ที่มาพร้อมกับน้ำท่วม เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนให้ระวังหากต้องเดินลุยน้ำ
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับแม่น้ำมูล ที่ปรับตัวสูงขึ้นในชุมชนหาดสวนยา เทศบาลเมืองวารินชำราบ หลังเขื่อนในลุ่มน้ำชี ทั้งที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และ อำนาจเจริญ ได้ระบายน้ำเกินระดับการเก็บกักลงสู่แม่น้ำมูล จนทำให้ชุมชนริมแม่น้ำมูลถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว
ถนนสายพิมาย-ชุมพวง กิโลเมตรที่ 7-8 บ้านพุดซา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร กระทบการสัญจร ล่าสุดระดับน้ำยังทรงตัว แต่หากมีฝนตกซ้ำ จะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก
ขณะที่เจ้าหน้าที่ อบต.แก่งเลิงจาน อำเภอเมืองมหาสารคาม ติดตั้งสูบน้ำ 3 เครื่องขนาด 8 นิ้ว เพื่อสูบน้ำออกจากถนนระหว่างชุมชนกับถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งถูกน้ำท่วมขังสูง 15 ถึง 20 เซนติเมตร ระยะทางกว่า 200 เมตร เนื่องจากบริเวณเป็นที่ลุ่มต่ำ ไม่สามารถระบายลงคลองได้
ชาวบ้านปากคลอง หมู่ 5 ตำบลเกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ต้องย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง จากน้ำท่วมที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะจุดที่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่านมาบรรจบกัน เช่นเดียวกับจังหวัดพิจิตร ชาวบ้านใน ต.งิ้วราย อ.ตะพานหิน ต้องใช้เรือสัญจรเข้าออก รวมถึงออกจับปลาหารายได้ในช่วงน้ำท่วม
ส่วนที่จังหวัดกำแพงเพชร น้ำท่วมในตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง เข้าสู่ภาวะปกติแล้วยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำ ประชาชนบางส่วนเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน
ที่หาดพระแอะ ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ถูกคลื่นลมแรงกัดเซาะชายหาด เป็นทางยาวกว่า 500 เมตร และลึกถึง 3 เมตร เจ้าหน้าที่ อบต.ศาลาด่าน เตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว ระวังอันตรายจากต้นไม้ล้ม และเตรียมเข้าแก้ปัญหา หลังหมดช่วงมรสุม
ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ แจ้งเตือนประชาชน ระวังอันตรายจากพิษแมงกะพรุน บริเวณหน้าชายหาด เกาะห้อง ตำบลเขาทอง พร้อมเตรียมชุดปฐมพยาบาลพร้อมช่วยเหลือ