ข้อมูลของเครดิตบูโร เปิดเผยว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของลูกหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเจนวายเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพลูกหนี้กลุ่มนี้มีแนวโน้มด้อยลงและจำนวนผู้ขอสินเชื่อใหม่ในแต่ละประเภทเป็นกลุ่มเจนวายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น จากข้อมูลปัจจุบันกลุ่ม "Gen X" หรือผู้ที่มีอายุ 37-51 ปี เป็นกลุ่มที่ถูกเฝ้าระวังการก่อหนี้เสียด้วย โดยเฉพาะหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน
จากฐานข้อมูลบัญชีสินเชื่อในระบบของเครดิตบูโรที่มีสมาชิก 93 แห่ง ณ สิ้นเดือน ส.ค. มีสินเชื่อ 92.50 ล้านบัญชี พบว่ากลุ่มคนเจนวาย อายุ 19-36 ปี เป็นกลุ่มที่มีการขอสินเชื่อรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ โดยกลุ่มสินเชื่อบ้านแต่ละปีจะมีบัญชีลูกค้าใหม่เพิ่มเฉลี่ยปีละ 300,000 บัญชีและครึ่งแรกปี 2559 มีลูกค้าใหม่ 160,000 บัญชี ซึ่งพบว่าเป็นการกู้ของลูกค้าเจนวายถึงร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 จากปี 2558 โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีบัญชีใหม่ 630,000 บัญชี เป็นกลุ่มเจนวายร้อยละ 43 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41 ในปี 2558 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีลูกค้าใหม่ 1 ล้านบัญชี เป็นเจนวายร้อยละ 53 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 ในปี 2558 และสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วง 6 เดือนแรกมีบัญชีใหม่ 1.26 ล้านบัญชี เป็นสัดส่วนกลุ่มเจนวายร้อยละ 48
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า คนเจนเอ็กซ์และเจนวาย เป็นกลุ่มที่ต้องจับตา "หนี้เสีย" ในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายที่ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรุกหนักมาก จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ลูกค้ากลุ่มนี้มีหนี้เสียในบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในด้านจำนวนบัญชีและมูลค่าหนี้เสีย แตกต่างจากกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ อายุ 52-70 ปี ที่จำนวนบัญชีและมูลค่าหนี้เสียชะลอตัว ส่วนหนี้เสียของสินเชื่อบ้านส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มลูกค้าเจนเอ็กซ์ อายุ 37-51 ปี เพราะคนวัยนี้มีภาระหนี้หลายด้าน ทั้งหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จากฐานข้อมูลบัญชีเครดิตบูโร ณ สิ้นไตรมาส 2/2559 พบว่า อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 7.1 และมีแนวโน้มพุ่งขึ้น แม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เอ็นพีแอลยังสูง ซึ่งสะท้อนว่าลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว กลับเข้ามาเป็นหนี้เสียใหม่ได้อีก ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2559 การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และสถาบันการเงินได้ขอใช้ข้อมูลเครดิตบูโรเพื่อวิเคราะห์เครดิตสินเชื่อใหม่ 34.20 ล้านครั้ง โดยเฉพาะการตรวจข้อมูลสินเชื่อของลูกหนี้เก่า
ด้านสถาบันการเงินมีเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อเข้มขึ้นมาก เช่น ในอดีตก่อนอนุมัติสินเชื่อจะคำนวณจากรายได้รวมของผู้กู้ ที่รวมค่าโอที โบนัสและรายได้อื่นๆ แต่ปัจจุบันดูที่ฐานเงินเดือนเพียงอย่างเดียว และดูที่รายได้สุทธิ คือเงินเดือนที่หักประกันสังคม หักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและหักหนี้ก่อนหน้าออกแล้ว ทำให้ตัวเลขรายได้ที่ใช้คำนวนต่ำลง