เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.2559) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะทำงานด้านการแก้ไขปัญหาจราจร เปิดเผยผลการแก้ปัญหาบนถนนสายหลัก 21 สาย ในช่วง 10 วันที่ผ่านมาว่า โดยเฉลี่ยการจราจรคล่องตัวขึ้น ทำความเร็วเฉลี่ยได้ 30-45 นาที ซึ่งเป็นผลจากการการปรับกายภาพเส้นทางจราจรใหม่ เช่น รื้อเกาะกลางถนน รื้อถอนวงเวียน ในถนนผ่านภิภพ ถนนราชดำเนิน แยกศรีเขมา ถนนประชาราษฎร์สาย 1 และบริเวณใกล้แยก ณ ระนอง
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายจราจรในช่วง 10 วันที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพฯ มีการออกใบสั่งไปกว่า 5,000 ใบ โดยเฉพาะการฝ่าฝืนจอดรถในที่ห้ามจอดรถ ผบ.ตร.กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ หากการแก้ไขปัญหาจราจรยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อาจมีความจำเป็นในการพิจารณานำมาตรา 44 มาใช้ พิจารณาเพิ่มโทษแก้ไขกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม รศ.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง ให้ความเห็นว่าการนำมาตรา 44 มาใช้เพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรอาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะกฎหมายจราจรของประเทศไทยเน้นเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุมากกว่าเพิ่มความคล่องตัว และเตือนว่าการตรวจจับผู้กระทำผิดมากเกินไปอาจทำให้รถติดมากขึ้นด้วยซ้ำ
"กฎหมายเกี่ยวกับค่าปรับมีแค่บางตัวเท่านั้นที่จะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด เช่น การห้ามจอดในจุดห้ามจอด แต่กฎหมายจราจรหลักๆ ออกมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุมากกว่าการออกมาเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และการที่ตรวจจับมากเกินไปบางครั้งจะทำให้เกิดความล่าช้ามากขึ้นด้วยซ้ำ" รศ.จิตติชัยกล่าว
"ตำรวจมีอำนาจจำกัด ตำรวจไม่มีอำนาจในการติดตั้งป้ายจราจร ไม่มีอำนาจในการขีดสี-ตีเส้น เพื่อบังคับเส้นทางต่างๆ เพราะอำนาจอยู่ในมือ กทม.และท้องถิ่น ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ต่อให้ตำรวจทำได้ดีแค่ไหน ก็ไม่ทำให้แก้ได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่สำคัญก็คือ ตำรวจ กทม.กระทรวงคมนาคมที่ดูและระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ต้องมาบูรณาการกัน ตราบใดที่รถเมล์ยังเป็นแบบนี้ คนก็อาจจะไม่อยากใช้บริการมากขึ้น"
"ผมอยากเห็นทั้ง 3 หน่วยงานนี้ ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม และจะต้องมีการมอบอำนาจให้มีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ตำรวจควรมีหน้าที่แค่การบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามเป็นหลัก แต่ไม่ควรมีอำนาจหน้าที่เรื่องการจัดการจราจร" รศ.จิตตชัยให้ความเห็น
นอกจากนี้ รศ.จิตติชัย ยังระบุว่าการเก็บข้อมูลของตำรวจนั้นไม่เพียงพอที่จะมาประเมินว่ามาตรการแก้ปัญหาจราจรติดขัดนั้นได้ผลหรือไม่
"การเปรียบเทียบสภาพการจราจรต้องเป็นข้อมูลระยะยาว การเปรียบเทียบโดยใช้เวลาแค่ 7 วันนั้นยากต่อการอ้างอิง อีกประเด็นหนึ่งคือ สัปดาห์ก่อนหน้าที่ตำรวจจะเริ่มแก้ปัญหา เป็นสัปดาห์ที่โรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยมศึกษายังเปิดเรียนอยู่ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาโรงเรียนทั้ง 3 กลุ่มนี้ปิดเทอมแล้ว การจราจรจึงติดขัดน้อยลงเป็นธรรมดา แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเขาทำแล้วไม่ดีขึ้น เพียงแต่ว่าระยะเวลาการเปรียบเทียบ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า กับสัปดาห์ที่ปฏิบัติการนั้น ไม่น่าจะเอามาเปรียบเทียบได้" รศ.จิตติชัยกล่าวพร้อมกับย้ำว่า ข้อมูลที่ได้ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปผลการแก้ไขปัญหาการจราจร