ถ้าเป็นไปตามแผนเดิม ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก็จะได้เห็นหน้าตาของ ร่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ฉบับที่เกือบจะสมบูรณ์ หลังจาก ครม.อนุมัติไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา
แต่อีกด้านหนึ่งของการพัฒนามันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้มีข้อท้วงติง เช่น การเวนคืนที่ดิน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งให้ทบทวน แต่สิ่งที่ภาคประชาสังคมกำลังแสดงออก คือ การคัดค้านทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเลยหรือไม่
คนในพื้นที่ คงจะไม่ถึงกับคัดค้าน หรือห้ามพัฒนาเส้นทางคมนาคม หรือห้ามเวนคืนพื้นที่ แต่เมื่อผลกระทบไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน จึงมีข้อเสนอว่า จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะต้องใช้พื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง รวม 6 แสน 3 หมื่นไร่ โดยเริ่มต้นจาก การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน และท่าเรือ เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ
หากมองเฉพาะภาคตะวันออก-ไปตะวันตก เราจะเห็นจุดเชื่อมระหว่าง 3 จังหวัดไปถึงทวาย ประเทศเมียนมาร์ เป็นระบบขนส่ง เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ใน 10 อุตสาหกรรมหลัง ผ่านการถือกรรมสิทธิ์ ที่มีสัญญาสูงสุดนานถึง 99 ปี แบ่งเป็น
5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย
-อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
-การท่องเที่ยวไฮเอนด์และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
-เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
-และการแปรรูปอาหาร
ส่วน 5 อุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve ประกอบด้วย
-หุ่นยนต์เพื่อการผลิต
-การบิน และโลจิสติกส์
-เชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ
-อุตสาหกรรมดิจิตอล
-และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร