ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุรชาติ บำรุงสุข" ชี้การเมืองไทยเหมือนรถไฟที่วิ่งเป็นวงกลมกลับสู่ "รัฐประหาร"

การเมือง
6 ต.ค. 59
15:33
676
Logo Thai PBS
"สุรชาติ บำรุงสุข" ชี้การเมืองไทยเหมือนรถไฟที่วิ่งเป็นวงกลมกลับสู่ "รัฐประหาร"
ศ.สุรชาติ บำรุงสุข มองการเมืองไทยในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ระบุการเมืองไทยเหมือนรถไฟเด็กเล่นที่วิ่งวนเป็นวงกลม การเปลี่ยนผ่านไมได้นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย หากแต่มักจบลงที่รัฐประหาร

ศ.สุรชาติ บํารุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์การเมืองไทยในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า โดยเปรียบการเมืองไทยเป็นเหมือนการเดินทางของรถไฟ 2 แบบ คือ รถไฟเด็กเล่นที่วิ่งวนไปมาและรถไฟในสวนสนุกที่ไต่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ววิ่งลงมาสู่จุดต่ำสุด

"การวิ่งไปข้างหน้าของรถไฟเป็นเพียงการบอกว่า ในที่สุดแล้ว รถไฟจะวิ่งกลับมาที่จุดเดิม ซึ่งรถไฟที่วิ่งวนเป็นวงกลมแบบนี้ย่อมหมายความว่าการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่หลักประกันที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านในรูปลักษณ์เช่นนี้ ไม่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่กลับเป็นหลักประกันสำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหารและบรรดากลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งหลายที่เชื่อว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การเมืองไทยจะอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขา"

"ส่วนรถไฟแบบที่ 2 ของการเมืองไทยในช่วง 40 ปีเป็นเหมือนรถไฟเหาะที่วิ่งอยู่ในสวนสนุก ที่วิ่งขึ้น-วิ่งลง ช่วงหนึ่งก็วิ่งขึ้นจนถึงจุดสูงสุดแล้วก็วิ่งลงมาถึงจุดต่ำสุด ถ้าการเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยก็เช่นกัน มีการวิ่งสู่จุดสูงสุดและกลับลงมาสู่จุดต่ำสุด" ศ.สุรชาติกล่าวพร้อมกับตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในทางรัฐศาสตร์ รัฐประหารถือเป็นข้อยกเว้นทางการเมือง ไม่ใช่กฎทางการเมือง แต่สำหรับการเมืองไทย รัฐประหารและการมีรัฐบาลทหารนั้นกำลังจะกลายเป็นกฎมากกว่าเป็นข้อยกเว้น และช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า รถไฟการเมืองไทยนั้นถูกออกแบบให้กลับมาที่เดิม คือ จบลงด้วยการรัฐประหาร

 

ศ.สุรชาติกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถือเป็นความผิดพลาดของฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะยังเกิดความแตกแยก และไม่มีสัญญาณการนำไปสู่ความปรองดอง ส่วนเงื่อนไขที่จะนำสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยได้ก็คือ ให้ทหารออกจากการเมือง ไม่มีอำนาจนอกระบบมาทำให้การเมืองไม่อยู่ในสภาวะปกติ และผู้มีอำนาจต้องอดทนไม่ทำลายระบบ

ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวระหว่างสุนทรกถา หัวข้อ "40 ปีเปลี่ยนผ่านประเทศไทย : 40 ปีเปลี่ยน 40 ปี ไม่ผ่าน" ว่ากิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ยังหวังให้เป็นเครื่องเตือนใจถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน และแม้วันนี้ ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะยังไม่ถูกชำระอย่างเป็นทางการ แต่การจัดงานวันนี้ ก็หวังให้คนรุ่นหลังไม่ลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

"แม้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังไม่ได้รับการชำระประวัติศาสตร์อย่างกระจ่างชัด แต่ไม่ได้แปลว่าจะปกปิดความจริงไปจากประชาชนคนรุ่นหลังได้ ทุกประเทศย่อมมีบาดแผลในประวัติศาสตร์ การยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นวิถีทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก การมาร่วมรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลาฯ ในวาระครบรอบ 40 ปี ในวันนี้นั้นจึงเป็นการดำเนินการในทางประวัติศาสตร์ ไม่ให้ถูกลืมเลือนไป" ศ.สมคิดกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง