จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ ประจำสถานีดับเพลิงบางเขน สังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการจับงูเห่าที่กำลังแผ่แม่เบี้ยด้วยมือเปล่าในคลิปที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ล่าสุด มีผู้ชมกว่า 1 ล้านครั้ง เปิดเผยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่าเหตุที่เขาสามารถทำให้งูเห่าสงบนิ่งและจับลงกระสอบไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างง่ายดายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเป็นเพราะได้รับการอบรมจากสถานเสาวภาและจากประสบการณ์การทำงานมากว่า 15 ปี
ในคลิปดังกล่าวปรากฏภาพ จ.ส.ต.ภิญโญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อีก 1 นายปฏิบัติการจับงูเห่าที่อยู่บริเวณสนามหน้าบ้านของประชาชนใน ซ.รามอินทรา 19 เขตบางเขน เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2559
งูเห่าตัวดังกล่าวมีความยาวประมาณ 1 เมตร ติดอยู่ในกระถางต้นไม้ ทันทีที่ไปถึง จ.ส.ต.ภิญโญได้นำกระถางที่งูติดอยู่ออกมากลางสนาม จากนั้นจึงได้ใช้ไม้กระทุ้งกระถางให้แตกเพื่อให้งูเลื้อยออกมา ซึ่งทันทีที่งูเลื้อยออกมาได้แผ่แม่เบี้ย แต่ จ.ส.ต.ภิญโญก็เผชิญกับสถานการณ์ด้วยความสงบนิ่ง และยังพูดคุยกับงูเห่าอย่างอารมณ์ดี จากนั้นเขาค่อยๆ ใช้มือจับงูอย่างแผ่วเบาด้วยความชำนาญและนำมันใส่ลงไปในกระสอบอย่างง่ายดาย
"เหตุที่มันนิ่ง เพราะเรานิ่ง ถ้าเราไม่นิ่ง มันก็อาจจะทำร้ายเราได้" จ.ส.ต.ภิญโญอธิบายเคล็ดลับในการจับงู "เราต้องเข้าใจธรรมชาติของงู งูเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ดี มองเห็นได้ในทิศทางที่จำกัด งูจะพุ่งกัดหรือฉกเหยื่อที่เคลื่อนไหว ดังนั้นถ้าเราอยู่นิ่งๆ ในมุมที่เหมาะสม มันก็จะไม่ทำร้ายเรา"
สำหรับงูเห่าตัวดังกล่าว จ.ส.ต.ภิญโญบอกว่า "ผมนำเขาไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ที่ห่างไกลบ้านเรือนประชาชนแล้วครับ สบายใจได้"
เขาอธิบายด้วยว่าในการจับงูนั้น จะต้องดูที่ชนิดของงูด้วย การจับงูเหลือม งูหลาม และงูเห่ามีเทคนิคการจับต่างกัน และต้องได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ
จ.ส.ต.ภิญโญเป็นคน จ.ฉะเชิงเทรา เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะมาเป็นตำรวจและย้ายสังกัดมาเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม. ซึ่งเป็นอาชีพที่เขารักและทำมาตลอด 15 ปี
จ.ส.ต.ภิญโญระบุว่า ความชำนาญในการจับงูของเขาเกิดจากการเข้าอบรมกับสถานเสาวภาและการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งเขตบางเขนเป็นเขตที่มีสัตว์เลื้อยคลานชุกชุมมากเป็นพิเศษ เพราะสภาพพื้นที่เป็นบ้านคนสลับกับพื้นที่ป่ารก ทำให้เขามีภารกิจจับงูอยู่บ่อยครั้งจนเกิดความเคยชิน
"บางวันผมได้รับแจ้งให้ไปจับงู 14-16 ครั้ง" จ.ส.ต.ภิญโญกล่าวและบอกว่าเขาถนัดที่จะจับงูด้วยมือเปล่ามากกว่าที่จะใช้อุปกรณ์ เพราะบางครั้งงูจะเข้าใจว่าอุปกรณ์คือสิ่งที่จะไปทำร้ายมัน
"แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน สำหรับบางคนอาจถนัดที่จะใช้อุปกรณ์จับงูมากกว่า"
ทุกวันนี้นอกจากจะออกปฏิบัติหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ แล้ว จ.ส.ต.ภิญโญเป็นผู้ฝึกสอนจับงูให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรุ่นน้องๆ ด้วย
เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่สถานีดับเพลิงบางเขนทุกคนล้วนมีความชำนาญในการจับงู
"เจ้าหน้าที่ดับเพลิงอย่างเราทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ดับเพลิง กู้ภัย จนไปถึงจับงู พวกเราพร้อมให้บริการประชาชน เรียกใช้บริการศูนย์วิทยุพระราม 199 ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นครับ" เขากล่าวทิ้งท้าย
ทำอย่างไรเมื่องูเข้าบ้าน
คำแนะนำและข้อควรรู้จากศูนย์วิทยุพระราม 199 เมื่องูเข้าบ้านควรทำอย่างไร
1.สังเกตและแยกแยะประเภทของงูว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่ โดยสังเกตง่ายๆ ที่หัว หากลักษณะเป็นสามเหลี่ยมนั้นคืองูมีพิษ แต่หากมีลักษณะมนกลมเป็นงูไม่มีพิษ ซึ่งงูที่พบบ่อย คือ งูเหลือม งูหลาม กับงูเห่า โดยงูเหลือมและงูหลามเป็นงูไม่มีพิษแต่มีอันตรายโดยการรัดเหยื่อ ส่วนงูเห่ามีแม่เบี้ยแผ่ให้เห็นชัดเจน ทำร้ายโดยการกัดและปล่อยพิษ
2.ไม่ควรใช้วิธีไล่งู งูจะพุ่งฉกหรือกัดเหยื่อที่เคลื่อนไหว หากเผชิญกับงูให้อยู่นิ่งๆ แล้วเคลื่อนไหวหรือถอยฉากหนีอย่างช้าๆ โดยจับตาดูการเคลื่อนไหวของงูไว้เพื่อหลบหลีกและควรอยู่ในระยะที่ปลอดภัย
3.เฝ้าสังเกตว่างูยังอยู่ที่เดิมหรือมีทิศทางการเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด เพื่อกันการหลบหนี
4.กันสมาชิกในบ้านและสัตว์เลี้ยงให้อยู่ห่างจากงู เพราะอาจโดนฉกหรือทำร้ายได้
5.มนุษย์ไม่ใช่เหยื่อโดยธรรมชาติของงู หากเราไม่ทำร้ายงูก่อน งูก็จะหลีกเลี่ยงไม่ทำร้ายมนุษย์เช่นกัน
6.ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ให้โทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 199 ดับเพลิงและกู้ภัย