วันนี้ (27 ต.ค.2559) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,582 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,165 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเขต อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี อ.ไชโย อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในบริเวณคลองโผงเผง และคลองบางบาล ตลาดเสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยังคงมีน้ำเอ่อเข้าท่วมขังเป็นบางแห่งนั้น กรมชลประทานได้วางมาตรการลดระดับน้ำในบริเวณดังกล่าว ด้วยการเพิ่มการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนจาก 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่การเกษตร ก่อนจะระบายน้ำลงสู่ทะเลตามลำดับ พร้อมกันนี้ ยังได้เพิ่มการรับน้ำผ่านเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อระบายน้ำลงสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อย่างรวดเร็ว ช่วยบรรเทาและลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นายทองเปลว กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว พบว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควนน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ คือ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 937 ล้านลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 7,620 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 6,687 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 รวมกันประมาณ 9,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2559/2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี
2559/2560 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 30 เมษายน 2560