ราคารับซื้อข้าวเปลือกในขณะนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เช่น ข้าวหอมมะลิ ราคารับซื้อเพื่อส่งออกเหลือเพียงประมาณ 16,000 บาทต่อตัน จากเดิมที่ไม่เคยต่ำกว่า 20,000 บาทต่อตัน สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำในขณะนี้กำลังส่งผลกระทบกับชาวนาเกือบ 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
จากสถานการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงเรียกประชุม นบข.ในวันนี้ เพื่อหารือมาตรการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งมีรายงานว่านางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอที่ประชุม นบข. ปรับปรุงโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก หรือ การจำนำข้าวในยุ้งฉาง ให้เกษตรกรได้รับเงินหลังขายผลผลิตไม่น้อยกว่าตันละ 11,500 บาท
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงต่อราคาข้าวในขณะนี้ แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีนักการเมืองและสื่อมวลชนบางกลุ่มใช้ความเดือดร้อนของประชาชนสร้างความเข้าใจผิดและสร้างข้อมูลเท็จ เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ใจของคนสังคม เช่น กรณีข่าวชาวนาประกาศขายที่นา เพราะราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งไม่เป็นความจริง
พล.ท.สรรเสริญขอให้เกษตรกรรอฟังมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากที่ประชุม นบข.ในวันนี้ พร้อมเสนอให้เกษตรกรเช่าฝากข้าวโกดังโรงสีในพื้นที่เดียวกันแทนยุ้งฉาง ควบคู่กับมาตรการที่ออกมาแล้ว เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท การลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ เป็นต้น
ด้านนายวิชัย ศรีนวลกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวว่า รัฐบาลควรประกาศมาตรการในการช่วยเหลือที่ชัดเจนโดยเร่งด่วน เพื่อพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกลงไปมากกว่านี้และเปิดเผยว่า ขณะนี้ ราคาข้าวหอมมะลิในประเทศเหลือเพียง 9,500 บาทต่อตัน เนื่องจากผู้ส่งออกตั้งราคารับซื้อเพียง 16,600 บาทต่อตันเท่านั้น จากปกติที่ราคาข้าวหอมมะลิจะไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อตัน
พณ.หารือโรงสี-ผู้ส่งออกข้าวกระจายออเดอร์ให้ทั่วถึง
น.ส.วิบูลย์รักษ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำเป็นเพราะตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 จะมีข้าวออกสู่ตลาดกว่า 20 ล้านตัน และไทยมีคู่แข่งส่งออกข้าวมากขึ้น ประกอบกับปีนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไร่ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาข้าวตลาดโลกตกต่ำ จึงส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศ ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
"เราจะประชุมกับโรงสีและผู้ส่งออกว่าถ้าได้ออเดอร์มาจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างไรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร" ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังร่วมประชุมที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลวังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เมื่อวานนี้ (30 ต.ค.)
ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้ ทำให้ชาวนาบางส่วนใน จ.พิจิตร และหลายจังหวัดภาคเหนือ เริ่มชะลอการเกี่ยวข้าวออกไปให้นานที่สุด โดยคาดหวังให้ราคาขยับขึ้น หรือรอให้ภาครัฐมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ส่วนชาวนาที่รอไม่ได้ ก็จำเป็นต้องขายข้าวในราคาที่ขาดทุน
ตัวแทนชาวนาและโรงสี จ.พิจิตรเปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวเปลือกขายได้เพียงตันละ 5,200-6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่พอกับต้นทุนจึงขอให้หน่วยรัฐช่วยเหลือ โดยระบุว่า หากรัฐบาลให้พ่อค้าส่งออกข้าวส่งออร์เดอร์ข้าวให้จังหวัดพิจิตร ประมาณ 50,000 ตัน และรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น โรงสีก็สามารถรับซื้อข้าวจากชาวนาได้ในราคาที่สูงขึ้นได้
ชาวนาอีสานวอนรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ
ชาวนาให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวที่ตกต่ำอย่างเร่งด่วน ขณะที่สหกรณ์การเกษตรพิมาย จ.นครราชสีมา เปิดจุดรับซื้อข้าว โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ทั้งหมด
ชาวนาอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ทยอยนำข้าวเปลือกไปขายยังจุดรับซื้อภายในสหกรณ์การเกษตรพิมาย ซึ่งเมื่อวานนี้ (30 ต.ค.) เปิดรับซื้อข้าวเปลือก กข 15 กิโลกรัมละ 6.40 บาท หลังโรงสีข้าวเอกชนเปิดรับซื้อกิโลกรัมละ 5-6 บาทเท่านั้น
ชาวนาตำบลท่าหลวงเปิดเผยว่า ปีนี้ราคาข้าวตกต่ำมากที่สุด จากเดิมที่เคยขายกิโลกรัมละ 10-12 บาท แต่ปีนี้ขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าปุ๋ยและค่ารถเกี่ยวข้าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นกว่านี้
ด้านนายสาทิช บวชสันเทียะ ที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรพิมายระบุว่า สหกรณ์ได้เปิดรับซื้อข้าวจากชาวนามาประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว ซึ่งข้าวที่รับซื้อขณะนี้คือข้าว กข 15 หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ข้าวเบา" โดยราคาตั้งแต่วันเปิดตลาดรับซื้อครั้งแรกอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งในแต่ละวันราคาจะไม่คงที่
สหกรณ์ฯ พยายามรวบรวมข้าวเพื่อเสนอไปยังพ่อค้าในพื้นที่ภาคกลาง ให้ช่วยรับซื้อต่อไปอีกทอด เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ ชาวนาในพื้นที่จะไม่มีเงินมาใช้หนี้และใช้จ่ายในครัวเรือน นายสาทิชกล่าว