ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ก.แรงงาน ปรับค่าตอบแทนผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องเท่ากับลูกจ้างสถานประกอบการ

สังคม
2 พ.ย. 59
20:20
277
Logo Thai PBS
ก.แรงงาน ปรับค่าตอบแทนผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องเท่ากับลูกจ้างสถานประกอบการ
กระทรวงแรงงานออกประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน หากได้ปริมาณและคุณภาพเท่ากับลูกจ้างในสถานประกอบการต้องได้ค่าตอบแทนในอัตราเท่ากัน

วันนี้ (2 พ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจอัตราค่าตอบแทนของลูกจ้างที่ทำงานที่บ้าน โดยนางวันเพ็ญ หรินทรสุทธิ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ยึดอาชีพรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้านมานานกว่า 20 ปี โดยในแต่ละเดือนจะมีผู้ว่าจ้างให้ตัดผ้าโหล ตัดเสื้อผ้า แต่ค่าตอบแทนที่ได้ บางครั้งไม่ค่อยคุ้มค่าและถือว่าไม่เป็นธรรม

วันเพ็ยเล่าว่าผู้ว่าจ้าง จะเป็นฝ่ายกำหนดราคาตัดเสื้อเช่น เสื้อตัวบางตัวที่มีรายละเอียดในการตัดเย็บที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการตัดเย็บค่อนนานถึง 8 ชม.กลับได้ราคาตอบแทนที่ค่อนข้างน้อยอยู่ที่ตัวละ 50 บาท ซึ่งหากทั้งวันตัดเสื้อได้เพียง 3 ตัวเท่ากับว่า จะได้ค่าแรง 150 บาท น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จึงต้องการให้กำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเหมาะสม

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่องอัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน อาศัยอำนาจตามกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านปี 2553 โดยกำหนดอัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทำที่บ้าน หากเป็นงานที่มีการจ้างงานในลักษณะเดียวกัน และปริมาณเท่ากัน กับที่จ้างในสถานประกอบกิจการ ค่าตอบแทนต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ

ส่วนในงานที่ไม่มีการจ้างงานในสถานประกอบกิจการ ให้เป็นไปตามที่ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านตกลงกัน แต่ต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า จากนี้จะบังคับใช้ประกาศนี้อย่างเข้มงวด โดยพนักงานตรวจแรงงาน จะเริ่มสุ่มตรวจการจ้างงานของแรงงานที่รับไปทำที่บ้าน หากพบว่า ผู้จ้างงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบันพบว่า มีกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน 539 กลุ่ม รวมกว่า 4,652 คน กระทรวงแรงงานเชื่อว่า ยังมีแรงงานนอกระบบในกลุ่มนี้อีกจำนวนมาก

ทั้งนี้หากแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเอาเปรียบค่าตอบแทนการจ้างงาน ให้แจ้งมาที่สายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหมายเลข 1546

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง