จากกรณี หน่วยงานจิตอาสาต่างๆ รับย้อมผ้าสีดำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีเสื้อผ้าสีดำสวมใส่ตลอดระยะเวลาแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่อาจมีการทิ้งน้ำเสียลงคลองสาธารณะ
วันนี้ (6 พ.ย. 2559) ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ทางสถาบันได้พัฒนาถังบำบัดน้ำเสียปนเปื้อนสีย้อมผ้าขนาดเล็กพกพาไปได้ทุกที่ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ครั้งละประมาณ 100 ลิตรต่อชั่วโมงหรือประมาณ 2 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งตัวเครื่องประกอบด้วยถังบำบัดที่มีกระบวนการสร้างตะกอนด้วยไฟฟ้าเคมี หรือ โคแอกกูเลชัน (Electrocoagulation) หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการกรองในถังที่ 2 เพื่อที่จะกำจัดสี ซึ่งผลที่ได้สามารถบำบัดสีได้หมดจนใสเหมือนน้ำประปา และไม่มีโครเมียมปะปนมากับน้ำทิ้ง อีกทั้งการผ่านถ่านกัมมันต์ร่วมกับโอโซน ทำให้น้ำมีคุณภาพกลับเข้าสู่กระบวนการย้อมสีผ้าได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เตรียมนำไปใช้จริงในจุดให้บริการย้อมผ้าต่างๆ
“การวิจัยพัฒนาเครื่องนี้ใช้เวลาไม่นาน โดยนำหลักการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการพิมพ์มาพัฒนาต่อ ยอด ความแตกต่างของการบำบัดน้ำเสียทั้งสองประเภทนี้ คือ การย้อมผ้าจะใช้เกลือสารตัวทำละลายสี และสารกันสีตกเพื่อให้สีติดทนอยู่กับผ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมโรงพิมพ์ใช้ทินเนอร์ในการทำละลายสี ดังนั้นถังบำบัดที่พัฒนาขึ้น จึงเน้นการลดความเป็นพิษของสารอันตรายที่อาจปนเปื้อนในสีย้อม และกำจัดสารปนเปื้อนอื่นๆ เช่น สารอินทรีย์ ผงซักฟอก ตะกอนแขวนลอย และสี ออกจากน้ำก่อนทิ้งลงสู่แม่น้ำลำคลองหรือพื้นดิน รวมทั้งหาแนวทางในการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ประโยชน์"