สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำนักพระราชวังเลือกไม้จันทน์หอมจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งต้องเป็นต้นที่ยืนต้นตายแล้วเท่านั้น
นายใจ หนองมีทรัพย์ วัย 65 ปี อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดินทางกลับมาที่ป่ากุยบุรีเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นหนึ่งในทีมงานสำรวจและคัดเลือกต้นไม้จันทน์หอมเพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และครั้งนี้เขาจะทำหน้าที่ในการสำรวจและคัดเลือกต้นไม้จันทน์หอมเพื่อใช้จัดสร้างพระบรมโกศ ตกแต่งพระเมรุมาศ และทำดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นแหล่งไม้จันทน์หอม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีระบุว่า ปัจจุบันป่าผืนนี้มีต้นไม้จันทน์หอมหลากหลายขนาด ตั้งแต่ต้นกล้าที่เพิ่งเริ่มแตกใบ ไปจนถึงต้นขนาดใหญ่ มีอายุตั้งแต่ 1ปี ไปจนถึงกว่า 100 ปี หลายต้นมีความสูงมากถึง 15 เมตร ที่สำคัญ ต้นไม้จันทน์หอมเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากลูกที่ร่วงลงมา แสดงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยึดถือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงรับสั่งอยู่เสมอว่า ให้ช่วยกันรักษาป่าเพื่อรักษาน้ำ หากป่าหมดก็จะเกิดความแห้งแล้งตามมา เป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา
เอกชัย วรรณวดี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลป่าผืนนี้เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากเพราะไม้จันทน์หอมไม่ค่อยพบที่อื่น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เลือกไม้จันทน์หอมลำดับที่ 10,11,14 และ 15 เพื่อใช้เพื่อใช้จัดสร้างพระบรมโกศ ตกแต่งพระเมรุมาศ และทำดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และจะใช้พื้นที่บริเวณต้นไม้จันทน์หอมลำดับต้นที่ 15 เป็นเป็นมณฑลพิธีบวงสรวงและตัดต้นไม้จันทน์หอม โดยจะตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวง ตลอดจนเครื่องสังเวยต่างๆ ซึ่งหลังจากนั้นจะใช้รถเทลเลอร์ของ อบต.หาดขาม บรรทุกไม้ทั้งหมด ไปยังสำนักช่างสิบหมู่ที่ จ.นครปฐม เพื่อจัดสร้างพระบรมโกศต่อไป
ไม้จันทน์หอมจัดเป็นหนึ่งใน "จตุชาติสุคนธ์" หรือของหอมจากธรรมชาติ 4 อย่างได้แก่ ไม้กฤษณา กระลำพัก ดอกไม้หอม และไม้จันทน์หอม
การจะนำไม้ชนิดนี้มาใช้จะต้องเป็นไม้ยืนต้นตายตามธรรมชาติ ไม่สามารถตัดโค่นก่อนได้ เพราะจะทำให้ไม่มีกลิ่นหอม ที่สำคัญยังต้องทำพิธีขอไม้จันทน์หอมจากรุกขเทวดา โดยโหรพราหมณ์จะอ่านโองการและตัดไม้ตามฤกษ์ดีเท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้จึงจะมีพิธีตัดต้นไม้จันทน์หอมที่บริเวณต้นที่ 15 ในวันที่ 14 พ.ย.2559 เวลา 14.09-14.39 น.