จากกรณีมีชาวบ้านตำบลหนองคู่ จังหวัดยโสธร นำค้างคาวแดงมาปรุงอาหารบริโภค โดยเชื่อว่าจะช่วยเรื่องความกระชุ่มกระชวย และสมรรถภาพทางเพศ วันที่ (8 พ.ย.2559) นายสัตวแพทยภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขอเตือนว่าการจับค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ผู้จับสัตว์ป่ามากิน มีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคจากค้างคาวอีกด้วย
สัตวแพทย์ด้านสัตว์ป่า บอกว่า จึงอยากให้ชาวบ้านที่บริโภคเนื้อค้างคาวน่า จะไปตรวจหาเชื้อ โดยเฉพาะโรคโคโรน่าไวรัส โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้สมองอักเสบไวรัสนิปาห์ ที่สามารถแพร่จากสัตว์ป่าสู่คนได้ และเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอุบัติใหม่ ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดทีมเฝ้าระวังโรคจากสัตว์ป่าสู่คนมาระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกสุ่มตรวจโรคไวรัสนิปาห์ โรคอิโบลา ไวรัสโคโรน่า และโรคพิษสุนัขบ้าในค้างคาวแม่ไก่ ในพื้นที่สระบุรี นครนายก และสุพรรณบุรี รวมทั้งโรคจากลิงที่อาศัยอยู่ใกล้ชุมชนและบริเวณเขาวัง จ.เพชรบุรี และการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก จากนกอพยพในแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ