ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภากาชาดไทยเตรียมลงพื้นที่เจาะเลือดชาวบ้านกินค้างคาว

สังคม
8 พ.ย. 59
16:03
1,528
Logo Thai PBS
สภากาชาดไทยเตรียมลงพื้นที่เจาะเลือดชาวบ้านกินค้างคาว
“สภากาชาดไทย” เตรียมลงพื้นที่เจาะเลือดชาวบ้านยโสธร ที่บริโภคเลือดค้างคาว หาความเสี่ยงติดเชื้อโรคไวรัสจากสัตว์ป่า

จากกรณีสัตวแพทย์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช เตือนชาวบ้านที่บริโภคเลือดและเนื้อค้างคาวว่ามีเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว 

วันนี้ (8พ.ย.2559) ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านไวรัสสัตว์สู่คน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวชาวบ้านกินเลือดค้างคาวและนำมาปรุงอาหาร ค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่จากค้างคาว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตรวจพบค้างคาวมีเชื้อไข้สมองอักเสบ ไวรัสนิปาห์ ไวรัสเมอร์ส โรคอีโบลา รวมทั้งโรคพิษสุนัขบ้า ที่เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คนได้โดยตรง 

จึงเตรียมประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เพื่อขอเข้าไปตรวจเฝ้าระวังโรคในกลุ่มชาวบ้านและคนที่สัมผัสกับค้างคาวเพื่อหาเชื้อ โดยใช้การเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ อุจาระ และสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ การตรวจสอบครั้งนี้ ถือเป็นเคสพิเศษที่เพิ่งเกิดขึ้นกับผู้บริโภคสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อโรคโดยตรง ที่ไทยได้รับความร่วมมือส่วนหนึ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากคนสู่สัตว์

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า จะเร่งประสานเพื่อเข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดและสารคัดหลังมาวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการ คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์จะรู้ผลว่าผู้บริโภคเหล่านี้ได้รับเชื้อโรคจากการบริโภคค้างคาวหรือไม่ หากตรวจพบเชื้อก็จะได้วางแนวทางในการรักษา แต่ถ้าไม่พบเชื้อก็ถือว่าโชคดี ทั้งนี้ขอเตือนว่าสัตว์ป่าหลายชนิดไม่ควรบริโภค ทั้งเลือดและเนื้อ เพราะสัตว์ป่ามีห่วงโซ่ที่เป็นพาหะนำโรคระบาดจากสัตว์ป่าสู่คนได้

ข้อมูลการวิจัยของ ดร.สุภาภรณ์ ระบุว่าก่อนหน้านี้ที่ประเทศบังคลาเทศ เคยมีการพบผู้เสียชีวิตจากไวรัสนิปาห์ ซึ่งอาจได้รับเชื้อจากค้างคาวโดยตรงหรือการติดต่อระหว่างคนสู่คน และค้างคาวที่นำไวรัสดังกล่าวของประเทศบังคลาเทศก็เป็นชนิดเดียวกับของไทย เช่น ค้างคาวแม่ไก่ ที่อาศัยในถ้ำ

ปัจจุบันพบว่ามีหลายคนที่นิยมนำค้างคาวไปรับประทาน เพราะมีความเชื่อเรื่องสรรพคุณของการเป็นยาชูกำลัง แต่การรับประทานค้างคาวไม่ว่าจะเป็นการปรุงสุกหรือดิบ จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรครุนแรงหลายชนิด ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนคนและเมื่อมีอาการป่วยจะไม่ปรากฎอาการของโรค ทำให้การระบาดของโรคจากค้างคาวสู่คนไม่ใช่เรื่องยาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสตัว ปัสสาวะ มูลและเลือดค้างคาวจากกระบวนการทำอาหาร

จากการวิจัยพบว่า เนื้อค้างคาวมีโปรตีน แต่ไม่ได้มีสรรพคุณอื่นตามที่ปรากฎอยู่ในความเชื่อ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่ผ่านการตรวจโรคจะมีความปลอดภัยกว่า และหากชุมชนใดยังปรากฎพฤติกรรมการรับประทานเนื้อค้างคาว ควรพบแพทย์ตรวจเลือดเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่สัตวแพทย์สัตว์ป่า แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องรบกวนหรือไล่ค้างคาวตามธรรมชาติ เนื่องจากค้างคาวมีประโยชน์ต่อการกำจัดวัชพืชและผสมเกสรพืชตามระบบนิเวศน์ หากมีระยะห่างของการอยู่อาศัยก็จะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง