ผลสำรวจจากสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมจาก 535 สถานประกอบการ ใน 12 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม พบว่าภาพรวมการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 4.17 และมีการให้โบนัสเฉลี่ย 1.87 เดือน ซึ่งลดลงเล็กน้อยตามสภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก แต่ไม่น่าจะมีผลต่อแรงงานมากนัก
โดยคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ปรับค่าจ้างมากที่สุด อันดับ 1 คือกลุ่มพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 5 อันดับ 2 ปิโตรเคมี ร้อยละ 4.7 และอันดับ 3 ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ร้อยละ 4.68 ส่วนการจ่ายโบนัสคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ให้มากที่สุด อันดับ 1 คือยานยนต์/ชิ้นส่วน 3.37 เดือน อันดับ 2 ปิโตรเคมี 2.2 เดือน อันดับ 3 เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ 1.82 เดือน
ไทยมีแรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในปี 2558 เกือบ 6.2 ล้านคน และต้องการกำลังคนเพิ่ม ร้อยละ 4.48 ทำให้ประเมินว่าปี 2560 ต้องการคนเพิ่มและทดแทนคนเกษียณประมาณ 2.7 แสนคน แต่ประธานสถาบันส่งเสริมขีดความสามารถมนุษย์ มองว่าความต้องการแรงงานมีแนวโน้มลดลงจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น
สำหรับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ยังรักษาแชมป์จ่ายโบนัสมากที่สุด ภาคแรงงานให้ข้อมูลว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ยังไปได้ดีต่อเนื่องถึงปี 2560 และยอดผลิตปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านคันตามเป้าหมาย
ขณะที่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการจากสมาพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย โรงงานผลิตรถยนต์ส่วนมากอยู่ที่ 8 เดือน โรงงานผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ อยู่ที่ 6-7 เดือน ส่วนโรงงานขนาดเล็ก อยู่ที่ 5-6 เดือน