ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า ไนโตรเจนเหลวที่ผสมในอาหารไม่เป็นอันตราย เพราะไนโตรเจนจะระเหยออกไป แต่หากเป็นไนโตรเจนที่ไม่บริสุทธิ์ เช่น มีไนโตรเจนอยู่ 98 เปอร์เซ็น อาจจะมีสิ่งเจือปน เชื้อโรค หรือสารพิษที่อยู่ข้างใน ซึ่งหากรับประทานเข้าไปก็อาจทำให้ได้รับอันตราย ดังนั้นการป้องกันอันตรายที่ดีที่สุดคือต้องรู้ถึงอันตรายของไนโตรเจน
สอดคล้องกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ไนโตรเจนเหลวไม่อันตรายอย่างที่กังวล เพราะระเหยได้เร็วมากและสามารถนำมาใช้กับอาหารได้ แต่ก่อนรับประทานต้องรอให้ไนโตรเจนเหลวหรือควันระเหยหมดก่อน เนื่องจากไนโตรเจนเหลวหรือควันอาจทำให้เกิดแผลในช่องปากได้ พร้อมเตือนผู้ผลิตหรือผู้ประกอบอาหารหลีกเลี่ยงการสัมผัสไนโตรเจนเหลวโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย
สำหรับ "ขนมควันทะลัก" คือการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ทำขนม สร้างความแปลกใหม่และดึงดูดลูกค้า แต่ในต่างประเทศเคยมีกรณีวัยรุ่นรับประทานอาหารที่มีไนโตรเจนเหลวเข้าไปแล้วเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุ