ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์" : วันสวรรคต 13 ตุลาคม กับการเปลี่ยนความเศร้าเป็นพลัง

สังคม
24 พ.ย. 59
16:04
1,426
Logo Thai PBS
"ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์" : วันสวรรคต 13 ตุลาคม กับการเปลี่ยนความเศร้าเป็นพลัง
"ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์" ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม มองสังคมไทยหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเขาเห็นว่าคนไทยเปลี่ยนความเศร้าโศกครั้งใหญ่เป็นพลังบวกได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับแนะนำว่าคนไทยควรเดินไปข้างหน้าอย่างไร

ในความเศร้าจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น เราเห็นพลังเกิดขึ้น อาจารย์รู้สึกเช่นเดียวกันไหม

เหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษ คล้ายกับเป็น Collective Defining Moment ก็คือเป็นเหตุการณ์ร่วมกันที่กระทบตัวตนของผู้คน 60 ล้านคนว่า ชีวิตของฉันจะเป็นอย่างไรต่อ เป็นห้วงเวลาที่เราได้รู้ว่าเรายืนอยู่จุดไหน จะเผชิญอะไร และจะรับมือกับมันอย่างไร เป็นช่วงที่เหมือนกับเราถูกทดสอบอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า คนไทยที่ตกอยู่ในความเศร้ากลับฟื้นคืนเป็นพลังบวกได้รวดเร็ว คล้ายกับตัวหนอนที่สำรอกใยออกมาเป็นดักแด้หุ้มตัวเอง แล้วเราก็สามารถที่จะกัดสายใยนี้ออกมาได้ และโบยบินเป็นผีเสื้องดงาม แต่เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะไปอย่างไรต่อ เพราะมันเป็น Moment ซึ่ง Moment นี้อาจจะเป็นหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปีก็ได้ เราอยากจะดึงพลังที่ได้มาเปลี่ยนแปลงจากตัวหนอนมาเป็นผีเสื้อนั้น ให้มันงดงามมีพลังยิ่งขึ้น โบยบินไปตามเกสรดอกไม้ต่างๆ และผสมพันธุ์เกสรดอกไม้ ทำให้เกิดออกดอกออกผล ทำให้แผ่นดินงดงามยิ่งขึ้น

อาจารย์พูดถึงความสวยงามในจินตนาการสำหรับอนาคต แต่ในเวลาที่อาจารย์พูดถึงจินตนาการนั้น อาจารย์ก็ยังมีดวงตาของความโศกเศร้าอยู่

ก็อดไม่ได้ มันเรื่องธรรมดา ทำให้ผมนึกถึงหนังสือของเชอเกียม ตรุงปะ ที่เขียนเรื่อง ชัมบาลา หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบที่ท่านเชอเกียมจะย้ำเสมอว่า เราต้องมีหัวใจที่เปราะบาง แตกได้ หักได้ เพราะในหัวใจที่เปราะบาง เราก็จะพบอะไรบางอย่างที่ลึกอยู่ในข้างในหัวใจเรา และก็มีศักยภาพออกมา ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากอยู่ในช่วงนี้ เพียงแต่ว่าเราจะดูแลรักษาส่งต่อให้มันแข็งแกร่งไปข้างหน้าได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ท้าทาย ไม่อยากให้เป็นเหตุการณ์เพียงสั้นๆ เดือน สองเดือน หรือปี มันควรจะดำรงไป 10 ปี 20 ปี 30 ปี จนกว่าหมดอายุขัยของคนหนึ่ง อย่างผมวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ก็ต้องมีคนรุ่นหลังซึ่งเราได้เห็นเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ออกมา คนเหล่านี้ก็ต้องอยู่อีก 40 ปี หรือ 50 ปี ต้องดูแลแผ่นดินต่อไป ทำอย่างไรให้งอกงามไปเรื่อยๆ

อาจารย์มีความเชื่อว่า ความเจริญงอกงามที่ว่านี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จาก Defining Moment ในเวลานี้

มีโอกาสเกิดขึ้นได้และมีโอกาสที่จะเสื่อมได้ ในโลกนี้ทุกอย่างอนิจจังทั้งนั้น ถ้าเราไม่ระวังให้ดี ไม่มีสติกับมัน ไม่มีสมาธิในการกระทำ ในการพูด ในการใช้ชีวิต และในการปรับความสัมพันธ์เข้าหากัน มันก็มีสิทธิเสื่อมได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญครั้งนี้ เมื่อเราค้นพบพลังด้านบวกของคนไทยกันแล้ว อยู่ที่ว่าจะดูแลกันอย่างไร รดน้ำพรวนดินกันและกันอย่างไร และสร้างความสัมพันธ์ที่จะต้องเชื่อมโยงกัน เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์อย่างยิ่งที่ให้คนไทยดูแลกัน รักกันให้มากๆ ซึ่งมันเป็นกระบวนการ (process) เหมือนอย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เราก็เคยช่วยเหลือกันมาแล้ว สึนามิเราก็ช่วยมาแล้ว แต่มันสั้นๆ แต่นี่เป็นเหตุการณ์ที่ต้องอยู่เป็นปีๆ ผมว่าอย่างต่ำ 10 ปี เราจึงจะเอาชนะได้ ก็อยากให้ศึกษาสิ่งที่พระองค์ท่านได้แสดงให้เราดู ท่านเป็นแบบอย่างของบุคคลที่ยืนหยัดในเรื่องราวที่ยากลำบาก และท่านก็มีวิธีการจัดการอย่างนุ่มนวลและเหมาะสม ถูกกาละเทศะเสมอ ผมคิดว่าควรศึกษาเรื่องนี้จากท่านให้มากๆ

ถ้าเราจะทำให้บรรยากาศของการที่มีสายใยถักทอหล่อเลี้ยงให้ดักแด้เติบโต พร้อมที่จะออกโบยบินเป็นผีเสื้อที่บินอย่างสวยงาม เราจะต้องทำอย่างไร

ผมคิดว่าเราต้องศึกษาวิธีคิดของพระองค์ เราอาจจะรู้ไม่หมดเพราะไม่มีใครบันทึกได้หมด เราอาจจะดูกระบวนการที่ท่านพยายามสร้าง พระองค์ท่านสนใจวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ พระองค์ท่านจึงพยายามสร้างโครงสร้างขึ้น โครงการทั้งหลายก็จะมีลักษณะแบบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำมาตั้ง 4,000 โครงการ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งนั้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย ช่องว่างระหว่างโอกาสและการศึกษาของผู้คน ทั้งที่พระองค์ท่านทุ่มเทพระวรกาย ทุ่มเททุกอย่างให้กับสิ่งเหล่านี้ ทำไมระบบราชการไม่สามารถนำสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำใน 4,000 โครงการไปขยายผลได้ ดังนั้น ผมคิดว่าเราต้องมาครุ่นคิดว่าเกิดอะไรขึ้น

อาจารย์มองว่า การสูญเสียครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งได้ยังไงบ้าง
เราพูดคำนี้บ่อยมาก หลายๆ เรื่องว่าเราเริ่มต้นกันใหม่ แต่มันก็กลับมาเหมือนเดิมก็บ่อย มันต้องตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเรายังไปไหนไม่ค่อยได้ไกล สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ ความเป็นสถาบัน ความเป็นองค์กร หรือ Institution มันมีอำนาจบางอย่างในตัวซ่อนอยู่ กฎระเบียบ วัฒนธรรมขององค์กรทำให้ศักยภาพของคนที่เข้าไปทำงานมันลดลงไป อย่างสถาบันการศึกษา คิดว่าพระองค์ท่านใส่ใจมากกับคนรุ่นใหม่ กับนักศึกษา มิฉะนั้นท่านจะไม่พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองและให้โอวาทบ่อยๆ แต่ทำไมสถาบันการศึกษาก็ไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่ดีได้ ทุกวันนี้ก็บ่นกันเรื่องระบบการศึกษาไทย แสดงว่าการเป็นสถาบันต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด

นี่เป็นโอกาสที่จะทบทวนเรื่องเหล่านี้และออกเดินร่วมกันใหม่โดยนำแนวทางของพระองค์ท่านมาน้อมนำ

เป็นโอกาสที่ดี แต่ว่าต้องมีกระบวนการและโครงสร้างมาสนับสนุน และที่สำคัญกระบวนการเหล่านี้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติการจริง เอาแต่คุยอย่างเดียวไม่พอ การที่เราดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ได้ฝึกจริง ปฏิบัติจริง มันเห็นผลจริง ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็นกระบวนการพัฒนาแบบยั่งยืน ดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ด้วยกัน อันนี้คือเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านแท้ๆ ทำอย่างไรจะมีกระบวนการที่ไปเกื้อหนุน เติมศักยภาพของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ

คนที่มีความตั้งใจจะเริ่มต้นใหม่จากความรู้สึกโศกเศร้าครั้งนี้ควรจะเริ่มต้นตรงไหน และสานต่อกระบวนการนั้นอย่างไร

ความรู้สึกมันมีขึ้นลง มันเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นพลังทางด้านบวกก็ได้ พลังลบก็ได้ ตอนนี้คนจำนวนไม่น้อยพร้อมที่หยิบเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ มาขยายด้านลบและสร้างอารมณ์ความรู้สึก อันนี้เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างกระบวนการของการสนทนา ซึ่งนำไปสู่การทำให้เกิดโครงสร้างแห่งความร่วมมือความเข้าใจเพื่อก้าวไปข้างหน้า ซึ่งการก้าวไปข้างหน้านี้ต้องการโครงสร้างหลายระดับมาก ตั้งแต่โครงสร้างเชิงพื้นที่ เช่น เมืองน่าอยู่ มีพื้นที่ของการสนทนา และต้องคิดไว้ว่าไม่มีทางที่จะทำสำเร็จภายในปีเดียว มันต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้น ความอดทนเป็นเรื่องสำคัญมาก ความอดทนในการดำเนินเรื่องนี้ ซึ่งพระองค์ท่านได้แสดงให้ดูเป็นตัวอย่างแก่พวกเราแล้ว ท่านใช้ธรรมะมากในกระบวนการทำงานของท่านและการดำรงพระชนม์ชีพของท่าน

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กิจกรรมการสนทนาและกระบวนการเรียนรู้ที่อาจารย์ริเริ่มขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

เปลี่ยนในแง่ที่ว่า เราจะรับมรดกที่ในหลวงประทานให้เราอย่างไร แล้วทำอย่างไรให้มรดกนี้เจริญงอกงามต่อไป แต่จริงๆ ทิศทางไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ว่าเอาสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงกระทำไว้มาศึกษาให้ลึกซึ้ง มาสร้างแรงบันดาลใจ เพราะว่าพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างของคนที่ฝึกฝนตนเองอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ผมยังอยากเข้าใจถึงแรงบันดาลใจของพระองค์ท่าน ที่ทำให้พระองค์ท่านไม่เคยจะท้อแท้ ถดถอย เรายังรู้ไม่หมด เรายังอยากเข้าใจมากกว่านี้ เพราะว่านี่คือสิ่งที่มีค่าและมีความหมายต่อคนอื่นๆ ที่จะเอาไปศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทาง

หมายเหตุ: ถอดความและเรียบเรียงจากรายการ "แสงจากพ่อสู่ความยั่งยืน" ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559

ข่าวที่เกี่ยวข้อง