คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชุมวางแผนการจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้ง วันนี้( 30พ.ย.2559)คณะกรรมการจัดสรรชลประทานจังหวัดอุดรธานี ประชุมกำ หนดแนวทางการจัดสรรน้ำ ในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำดิบผลิตประปาแห่งใหญ่ของจังหวัด หลังพบว่าขณะนี้มีปริมาณการกักเก็บอยู่ที่ 108 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่าง
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง คาดว่าจะสามารถจัดสรรน้ำได้ประมาณ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่สนับสนุนให้เกษตรกรทำนาปรัง เนื่องจากต้องใช้น้ำปริมาณมาก และข้าวราคาตกต่ำ
โดยแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วลิสง ซึ่งเป็นพืชสินค้าเกษตรที่สำคัญ และราคาดี อีกทั้งระยะเวลาการปลูกสั้นเพียง 90 วัน ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรปรับตัวหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย แทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำคะตอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปา ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 122 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่าง
แม้ว่าปีนี้ปริมาณการกักเก็บจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 จ.นครราชสีมา สั่งงดระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อรักษาปริมาณน้ำกักเก็บ
เช่นเดียวกับน้ำในอีก 4 เขื่อนหลัก ที่พบว่า ปริมาณน้ำยังต่ำกว่าที่ชลประทานคาดการณ์ไว้ โดยชลประทานจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้ง