ภายหลังกระทรวงการคลังมีแนวคิดให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้าบริหารงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ที่นำโดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยมีบทบาทในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย ร่วมกันแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
โดยไม่เชื่อว่าถ้าให้เอกชนมาบริหารงบแล้ว สวัสดิการที่ข้าราชการเคยได้จะได้รับเหมือนเดิม จะต้องถูกจำกัดสิทธิหรือมีเพดานค่ารักษาพยาบาล เพราะงบประมาณที่เอกชนได้รับ 7.2 หมื่นล้านบาทนี้จะถูกหักเป็นค่าบริหารจัดการจำนวนมาก คล้ายกับกรณีกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถปี 2535 ที่ให้เอกชนบริหาร ซึ่งหักค่าบริหารจัดการสูงกว่าร้อยละ 40 ต่อปี จะทำให้เงินค่ารักษาพยาบาลไปถึงข้าราชการน้อยกว่าเดิม ต่างจากงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท ที่บริหารโดย สปสช. ซึ่งใช้ค่าบริหารจัดการไม่ถึงร้อยละ 1 ต่อปี
หากดูตัวเลขงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการตั้งแต่ปี 2555 จะใช้อยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2559 นี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและนวัตกรรมทางการแพทย์มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
คสร.จึงไม่เชื่อว่างบประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทที่บริษัทประกันเอกชนรับจากกระทรวงการคลังไปบริหารจัดการจะเพียงพอไปตลอด คสร.คาดการณ์ว่าหากให้เอกชนบริหารจริงภายใน 2 ปี ระบบสวัสดิการข้าราชการจะเกิดปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอให้กระทรวงการคลังทบทวนแนวคิดนี้ โดยเปลี่ยนมาพัฒนาระบบบริหารจัดการให้กรมบัญชีกลางดูแลเหมือนเดิม จัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่เพื่อดูระบบนี้โดยเฉพาะ หรือโอนระบบนี้ให้หน่วยงานของรัฐที่มีประสบการณ์และมีกฎหมายรองรับเข้ามาบริหารแทน