วันนี้(8 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เตรียมพิจารณาแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ เพื่อประมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่คาดการณ์ว่าการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ในแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ซึ่งผลิตก๊าซถึงร้อยละ 76 ของการใช้ทั้งหมดของประเทศยังไม่ได้ข้อสรุป
สำหรับการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ใหม่ใน 2 ส่วน คือ 1.)การเร่งโครงการขยายคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก กพช.ไปก่อนหน้านี้แล้วให้เร็วขึ้นอย่างน้อย 1 ปี คือ โครงการคลังรับ-จ่ายก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 7.5 ล้านตัน/ปี บริเวณบ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ที่จะเข้าระบบในปี 2565 กับโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FSRU) ของ กฟผ. กำลังผลิต 5 ล้านตัน/ปี บริเวณอ่าวไทยที่จะผลิตเข้าระบบในปี 2566
และ 2.)การนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นสัญญาระยะยาว ในประเด็นที่ว่าใครจะเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติม เนื่องจาก กพช.ไม่ต้องการให้บริษัท ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพียงรายเดียว
ส่วนความคืบหน้าการทำโพลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ จ.กระบี่ ว่าต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายนั้น กฟผ.ได้เร่งรัดว่าจ้างสถาบันการศึกษาให้เร็วที่สุด คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในเดือน ธ.ค.นี้
ขณะที่ วานนี้ (7 ธ.ค.) ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เปลี่ยนแผนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาเป็นเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี ซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกับ กฟผ.ในด้านราคา นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าค่าไฟฟ้าในอนาคตจะไม่แพง เมื่อเทียบกับการผลิตจากถ่านหิน
อย่างไรก็ตาม นอกจากความกังวลว่าอัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นหากไม่ใช้ถ่านหิน ฝ่ายรัฐยังกังวลว่าการพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทใดประเภทหนึ่ง เหมือนในปัจจุบันที่ใช้ก๊าซไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จะเสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งขัดแย้งกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่พยายามจะกระจายเชื้อเพลิงให้หลากหลาย
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวของกระบี่เตรียมหารือร่วมกันถึงผลที่จะเกิดขึ้น ของโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี วันที่ 10 ธ.ค.นี้ หากโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็เห็นด้วยที่จะสร้างแทนโรงไฟฟ้าฟ้าถ่านหิน แม้ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะเเพงกว่าก็ตาม