ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตะลึงวงหนี้เกษตรกรพุ่ง กองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร ดันเข้าระบบปรับโครงสร้างหนี้

เศรษฐกิจ
31 ก.ค. 54
12:16
18
Logo Thai PBS
ตะลึงวงหนี้เกษตรกรพุ่ง กองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร ดันเข้าระบบปรับโครงสร้างหนี้

เผยยอดขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 6.02 ล้านรายทั่วประเทศ ตะลึงวงหนี้รวมกว่า 69,862 ล้านบาท เร่งดันเข้าระบบปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมช่วยฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเพิ่มช่องทางสร้างรายได้

นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ได้เปิดรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรและทะเบียนหนี้ของเกษตรกรตาม  พรบ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรฯ พร้อมผลักดันเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรแล้วทั้งสิ้น 52,015 องค์กร เกษตรกรสมาชิก จำนวน 6,024,741 ราย   ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ มีเกษตรกรที่เป็นหนี้จำนวน 468,177 ราย วงหนี้รวมสูงถึง 69,862,734,007 บาท แยกเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการส่งเสริมของรัฐ จำนวน 20,510 ราย วงเงินกู้ 1,106,766,440 บาท  หนี้ที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน มีทั้งลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 257,972 ราย วงเงินกู้ 39,278,907,369 บาท

นอกจากนั้นยังมีลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ จำนวน 18,205 ราย วงเงินกู้ 11,791,706,233 บาท  ลูกหนี้สหกรณ์การเกษตร 147,011 ราย วงเงินกู้ 12,249,269,888 บาท อีกทั้งยังมีเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้นิติบุคคล จำนวน 19,516 ราย วงเงินกู้ 4,913,635,613 บาท และและเป็นหนี้อื่นๆ อีก จำนวน 4,693 ราย วงเงินกู้ 522,448,461 บาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่สมาชิก กองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีแผนเร่งผลักดันให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้แล้วเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพ โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้เข้ารับการอบรม และเรียนรู้ในศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ปราชญ์ฯ ที่กองทุนฟื้นฟูฯ คัดเลือกไว้รองรับกว่า 212 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อปรับทัศนคติ แนวคิด และพฤติกรรมในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต โดยเน้นให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลักและสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้

นายสมยศ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ฝึกอบรมฯและศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านฯ ได้ดำเนินการฝึกอบรมเกษตรกรสมาชิกไปแล้วกว่า 37,000 รายทั่วประเทศ  ซึ่งในปี 2554  ได้ตั้งเป้าฝึกอบรมเกษตรกรจำนวน 120,000 ราย ขณะที่มีเกษตรกรยื่นความจำนงเข้ารับการฝึกอบรม ประมาณ 80,000 ราย สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว สามารถยื่นเสนอแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพผ่านองค์กรเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรได้ โดยกองทุนฟื้นฟูฯจะเร่งพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณ หรือเงินทุนตามความเหมาะสมของแต่ละแผนหรือโครงการที่เสนอเข้ามา เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นและเงินเหลือพอนำมาชำระหนี้คืนได้ในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง