ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แสงสันติภาพ (ตอน 1) : เปิดใจแกนนำ "มูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี"

ภูมิภาค
13 ธ.ค. 59
11:36
2,444
Logo Thai PBS
แสงสันติภาพ (ตอน 1) : เปิดใจแกนนำ "มูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี"
"นาซอรี แซะเซ็ง" แกนนำกลุ่มมูจาฮีดีนให้สัมภาษณ์พิเศษทีมข่าวไทยพีบีเอส ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระบุพร้อมพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย

กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) เป็น 1 ใน 6 กลุ่ม ที่เข้าร่วมกับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย และเป็นครั้งแรกที่กลุ่ม GMIP ได้ออกมาสื่อสารผ่านไทยพีบีเอส โดยยืนยันว่าเป้าหมายของการต่อสู้ คือการสร้างเสรีภาพให้ประชาชน  

เป็นครั้งแรกที่นายนาซอรี แซะเซ็ง หรือ ชื่อจัดตั้ง "อาแว แค" และผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธของกลุ่ม GMIP คนที่ 2 ยอมเปิดเผยตัวหลังจากเคยถูกตั้งรางวัลนำจับสูงถึง 3 ล้านบาท โดยเขาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม

แต่เขายอมรับว่ามีแนวร่วมในการก่อเหตุอยู่หลายกลุ่มจากความรู้สึกคับแค้นใจในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาทำให้การสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่ทำได้ง่าย และบางกลุ่มมีอำนาจในการตัดสินใจปฎิบัติการทางทหารด้วยตัวเอง ทำให้เหตุรุนแรงในรูปแบบดาวกระจายเกิดขึ้นได้

ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปพบนายนาซอรีช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งการพบกันในครั้งนี้ต้องกระทำในทางลับ นายนาซอรีอ้างว่าขณะนี้ยังคุมกองกำลังติดอาวุธมากกว่า 300 คน และผู้สนับสนุนอีกเกือบ 700 คน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

"กลุ่มของเรายังไม่ได้ส่งสารอะไรไปยังสมาชิก เพราะขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพูดคุยสันติสุขและทางการไทยยังไม่มีหลักประกันอะไรให้กลุ่มขบวนการ" นายนาซอรีกล่าว

"เราต่อสู้ตามอุดมการณ์ของเรา ขอให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งเราทำ ขอให้เชื่อใจ ส่วนข่าวที่ว่าเราโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ ยิงครู ฆ่าตัดคอนั้นไม่ใช่แนวทางของเรา" นายนาซอรีย้ำ

ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหรมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่าเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อความไม่สงบ แต่ทางรัฐก็พยายามหาทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการยุติความรุนแรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งในการดำเนินการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

สาระสำคัญของมาตรา 21 นั้นเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องหาที่กระทำความผิด หรือหลงผิดเข้ามารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อเข้ารับการอบรมและมีโอกาสในการกลับสู่สังคมและมีผลให้คดีอาญาระงับไปได้

แม้ปฏิบัติการทางทหารของกลุ่ม GMIP จะยังคงดำเนินอยู่ แต่นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม GMIP ซึ่งยอมเปิดเผยต่อสื่อมวลชนครั้งแรกระบุว่า กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองก็ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นคู่ขนาน โดยเฉพาะการเข้าไปเป็น 1 ใน 6 กลุ่มใต้ร่มมาราปาตานี เพื่อพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทย โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้ประชาชนมีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกอนาคตในการปกครองตัวเอง

"การต่อสู้ของเราก็เพื่อคืนเสรีภาพให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าต้องการแบบไหน ต้องการเอกราช การปกครองพิเศษ หรือการปกครองภายใต้รัฐไทยเช่นเดิม ประชาชนเป็นคนสุดท้ายที่จะตอบได้" เจ๊ะกูแมกล่าว 

รศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่าการขัดกันด้วยอาวุธ (armed conflict) ในพื้นที่นี้อาจไม่เรียกว่าสงครามก็ได้ แต่เป็นการขัดกันด้วยอาวุธระหว่าง 2 ฝ่าย ในเงื่อนไขทางการเมือง มีเป้าหมายอุดมการณ์ในการต่อสู้ที่ความเห็นที่แตกต่างกัน


GMIP ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 โดยนายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ มีรูปแบบการจัดตั้งคล้ายกับกลุ่มก่อความไม่สงบองค์กรอื่นๆ ที่มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทั้งฝ่ายแกนนำ การเมือง ทหาร และฝ่ายเศรษฐกิจ โดยข่าวสารของทางราชการทราบแต่เพียงว่า GMIP เป็นกลุ่มก่อเหตุที่ใช้วิธีการรุนแรงมากที่สุด แต่ GMIP ก็แย้งว่า ปฎิบัติการทางทหารของกลุ่ม จะพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายแข็ง ไม่ใช่เป้าหมายอ่อนแอ และมีเจตนารมณ์เหมือนกลุ่มอื่นๆ ในมาราปาตานี ที่ต้องการเห็นสันติภาพตามเงื่อนไขที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ จนนำไปสู่การลดการใช้อาวุธในอนาคต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง