เกษตรฯเตือนส่งออก “ไม้ดอก-ไม้ประดับ” ไป อียูแบบหิ้ว-ส่งทางไปรษณีย์มีปัญหาถูกตีกลับ
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป(EU)ได้แจ้งเตือนปัญหาการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้จากประเทศไทยไปยัง EU โดยตรวจพบว่าไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช(Phytosanitary Certificate)บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะกรณีนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารซื้อดอกกล้วยไม้หรือช่อกล้วยไม้ แล้วหิ้ว(Hand Carrying)ติดตัวขึ้นเครื่องบินไปโดยไม่ผ่านการรมสารเมทิลโบรไมด์และไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับแนบไปกับพืชด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมา ตรวจพบถึง 54 ครั้ง ขณะที่ปี 2554 ตรวจพบแล้วจำนวน 13 ครั้ง
นอกจากนั้น EU ยังแจ้งว่า ได้ตรวจพบการส่งสินค้าพืช อาทิ ต้นกล้วยไม้ และชิ้นส่วนพืชเพื่อใช้ทำพันธุ์หรือปลูก เช่น กิ่งลีลาวดี ทางไปรษณีย์ให้กับลูกค้าใน EU ด้วย ซึ่งไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปกับสินค้าเช่นเดียวกัน โดยปี 2553 ตรวจพบ 198 ครั้ง และในปีนี้ประเทศผู้นำเข้าปลายทางได้ตรวจพบแล้ว จำนวน 14 ครั้ง
สินค้าดังกล่าวที่ถูกตรวจพบ ณ ประเทศปลายทางจะถูกกักและไม่อนุญาตให้นำเข้า ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้จำหน่าย ร้านค้าหรือผู้ประกอบการของไทย ให้ช่วยสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะซื้อดอกหรือช่อกล้วยไม้ เพื่อหิ้วขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศกลุ่ม EU โดยต้องซื้อสินค้าที่ผ่านกรรมวิธีรมสารเมทิลโบรไมด์จากโรงรมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร และสินค้ากล้วยไม้ทุกช่อ ทุกดอกต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปด้วย ซึ่งก่อนที่จะนำติดตัวขึ้นเครื่องต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เพื่อให้สอดรับกับกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าของกลุ่ม EU ซึ่งจะไม่มีปัญหา
“อียูได้แจ้งเตือนให้ไทยเร่งแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งผู้ประกอบการหรือผู้ค้าทุกรายต้องให้ความร่วมมือกัน เพื่อรักษาภาพลักษณ์สินค้าไม้ดอกไม้ประดับไทย พร้อมสร้างความเชื่อมันให้กับประเทศผู้นำเข้าปลายทาง และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะกล้วยไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
นางช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันรูปแบบการซื้อขายสินค้าพืชผ่านทางอินเตอร์เน็ตแพร่หลายมากขึ้น โดยลูกค้าในต่างประเทศจะสั่งซื้อครั้ง 1-2 ต้น แล้ว ให้ส่งทางไปรษณีย์โดยที่พบมาก ได้แก่ ต้นพันธุ์ กิ่งพันธุ์ และพืชเพื่อปลูก(Plant intend for planting) โดยเฉพาะกิ่งหรือยอดลีลาวดี มีการซื้อขายกันค่อนข้างมากทางไปรษณีย์ ดังนั้น ก่อนที่จะส่งออก ผู้ประกอบการหรือผู้ที่จะส่งออกต้องศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศปลายทาง และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคส่งออกโดยรวม
นางช่อทิพย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ประสานไปยังไปรษณีย์กลางให้แจ้งที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งให้ช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ หากพบว่ามีผู้ที่จะส่งสินค้าพืชเพื่อปลูกเลี้ยงผ่านทางไปรษณีย์ไปยังต่างประเทศให้มาติดต่อที่กรมวิชาการเกษตร เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องปฏิบัติตามโดยมีรายชื่อพืชควบคุมเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 121 วงศ์ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบศัตรูพืชกักกันในแต่ละชนิดพืช เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ แมลงวันหนอนชอนใบ ซึ่งต้องทำการกำจัดศัตรูพืชก่อนส่งออก รวมถึงการขึ้นทะเบียนแหล่งผลิตพืชควบคุมเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป การขอใบรับรองสุขอนามัยพืช การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกพืชควบคุมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร